พระเจ้าของเราทรงทำทุกสิ่งด้วยการวางแผนไว้ล่วงหน้า  ไม่ใช่เกิดขึ้นแบบบังเอิญ พระองค์ทรงเรียกเราทุกคนโดยมีเป้าหมายและแผนการสำหรับเราทุกคนให้เติบโต และทำพันธกิจให้เกิดผล สมกับการทรงเรียกที่มีต่อชีวิตของเรา (อฟ.4:1-8)

และวันนี้เราจะกล่าวถึงการรับใช้ผ่านทางคริสตจักร เราต้องเข้าใจบทบาทของของประทานทั้ง 5  และบทบาทของการเป็นสมาชิกในคริสตจักร ที่จะต้องเติบโตขึ้น  และออกไปรับใช้ในการเสริมสร้างให้คริสตจักรเจริญขึ้น  อ.เปาโลได้กล่าวถึงบทบาทของผู้รับใช้ที่มีของประทานทั้ง 5 นี้เพื่อชุนชีวิตของสมาชิกทุกคนให้แข็งแรง ปิดช่องโหว่ชีวิตของสมาชิก ด้วยการสำแดง ชุนด้วยการสอน การลงชีวิตเสริมสร้างปรับเปลี่ยนให้พวกเขาแข็งแรง เติบโต เพื่อเขาจะดำเนินชีวิตสมกับการทรงเรียกของพระเจ้า  ซึ่งเมื่อเข้าใจแล้วคริสเตียนที่ดำเนินชีวิตที่สมกับการทรงเรียกของพระเจ้า  คือคนที่พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย  4 ประการดังต่อไปนี้  คือ……..

1. จากท่าที “ปรนนิบัติเรา” มาเป็น “เราปรนนิบัติ”

หมายถึง  อดีตของความเชื่อคต.มักคิดว่าการเป็นผู้รับใช้จะต้องยากจน ถ่อมใจ ไม่มีสิทธิ์มีความสุขเกินความจำเป็น และต้องทำงานให้คุ้มค่าจ้าง  แต่ปัจจุบันความคิดนี้ได้ถูกเปลี่ยนไป  แต่ก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว  สมาชิกก็ยังมีความคิดอยู่ว่าผู้รับใช้ควรมาปรนนิบัติดูแลเอาใจใส่เราให้เต็มที่ตลอดการเป็นสมาชิกในคริสตจักรนั้น ๆ นั่นหมายถึงการที่เราต้องการให้คริสตจักรต้องตอบสนองความต้องการของเราทุกอย่าง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเราก็ไม่มีทางเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่จะรับใช้ผู้อื่นได้  ดังนั้นเราควรเปลี่ยนท่าทีของเราเสียใหม่ในความปรารถนาทุกประการให้เรามองและแสวงหาการช่วยเหลือที่มาจากพระเจ้า  และพร้อมที่จะให้ผู้รับใช้หรือคริสตจักร เป็นผู้ช่วยเหลือเตรียมชีวิตเราเข้าสู่การเป็นผู้รับใช้  เพื่อปรนนิบัติผู้อื่นสมกับการการทรงเรียกของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตของเรา  ดังนั้นท่าทีของเราทุกคนควรจะมี คือรักที่จะปรนนิบัติผู้อื่น

2. จากท่าที “ชื่นชอบระยะไกล” มาเป็น “ช่วยเหลือระยะใกล้”

(กจ.2:46-47) หมายถึง  เมื่อคริสตจักรมีสมาชิกมากขึ้น  เป็นเหตุที่เราห่างไกลกัน ทำให้สัมพันธภาพของสมาชิกนั้นเหินห่าง  ทำให้ไม่สามารถดูแลกันแบบใกล้ชิดได้เมื่อบางคนมีปัญหา กลุ่มต่าง ๆ ก็กระจัดกระจาย แต่สมัยกิจการนี้เขามีวิธีแก้ปัญหาคือ  การมีประชุมในกลุ่มย่อยๆ หรือกลุ่มเซลตามบ้าน อธิษฐานร่วมกัน ดูแลกันแบบใกล้ชิดมากขึ้น  เพราะสมาชิกนั้นมีท่าทีในการปรนนิบัติผู้อื่น  ให้เราทุกคนมีท่าทีช่วยเหลือในระยะใกล้ เข้ากลุ่มต่าง ๆ ตามที่คริสตจักรได้จัดไว้ให้เพื่อเสริมสร้างซึ่งกันและกัน

3. จากท่าที “นั่งชม”  มาเป็น  “นมัสการ”

จากการที่สมาชิกบางคนอาจมีท่าทีการนั่งชมคอนเสิร์ตการนมัสการพระเจ้า ดูเพื่อเพลงเพราะ หรือสนุก  แต่แท้จริงแล้วเราควรมีท่าทีที่จะเข้าร่วมนมัสการด้วยใจจริง  เราต้องตีค่าพระเจ้าที่เรานมัสการนั้นสูงส่ง แสดงท่าทีในการยกย่อง ยกชู สรรเสริญ นมัสการด้วยจิตวิญญาณ และด้วยความจริงจากใจของเรา

(สดด.13:6  “…6ข้าพเจ้าจะร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า เพราะว่าพระองค์ทรงกระทำแก่ข้าพเจ้าอย่างดี…” และ   สดด.33:1“…1ข้าแต่ท่านผู้ชอบธรรม จงเปรมปรีดิ์ในพระเจ้า การสรรเสริญนั้นควรแก่คนเที่ยงธรรม…”   และสดด.104:33 “…33ข้ามีชีวิตอยู่ตราบใด ข้าจะร้องเพลงถวายพระเจ้า ขณะข้ายังเป็นอยู่ ข้าจะร้องเพลงสดุดีถวายพระเจ้าของข้า…” )

คนที่จะเป็นคนชมจริง ๆ คือพระเจ้าของเราซึ่งพระวจนะได้กล่าวไว้ว่า  พระองค์จะแสวงหาคนที่นมัสการพระองค์ ด้วยใจจริง นี่ก็แสดงว่าในเวลานมัสการนั้น มีทั้งคนที่นมัสการด้วยใจริงและคนที่มีแต่ท่าทีนั่งชม  คำว่าแสวงหา นั่นก็หมายถึงว่าต้องหา หรือหายากสำหรับคนที่นมัสการจริง  ขอให้พระเจ้าทรงช่วยเหลือเราที่จะสำรวจท่าทีและเปลี่ยนท่าทีของเราเสียใหม่ในการนมัสการพระเจ้าด้วยใจจริง

4. จากท่าที “สบาย”  มาเป็น  “สงคราม”

ทุกคนมักจะมีท่าทีชอบความสบายไม่ชอบลำบากและ มีผู้รับใช้คนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ความยากลำบากไม่เคยทำให้ใครตาย  แต่ความสบายนั้นต่างหากทำให้คนตายได้”  นั่นก็เป็นจริงสำหรับชีวิตคริสเตียน  เพราะความยากลำบากเกิดขึ้นกับเรา ก็ทำให้เราแสวงหาคร่ำครวญอธิษฐานต่อพระเจ้าในการช่วยเหลือ  แต่พอสบายเราก็จะห่างเหินจากพระเจ้าทันที  ชีวิตคต.นั้นต้องตระหนักถึงว่าเรากำลังอยู่ในช่วงสงครามฝ่ายวิญญาณ  เราคือเอเย่น หรือตัวแทนของพระเจ้าที่ต้องทำงานหนักแย่งชิงดวงวิญญาณมนุษย์กลับคืนอาณาจักรของพระเจ้านำความรอดมอบให้แก่พวกเขา  สร้างเสริมนำพาชีวิตพวกเขาให้ห่างจากประตูนรก    (อฟ.6:12)

สรุป

ดังที่อ.เปาโลได้วิงวอนและขอร้องพวกเราผู้เชื่อทุกคน กล่าวว่า  “ให้เราทั้งหลายดำเนินชีวิตให้สมกับการทรงเรียกของพระเจ้า”  ดังที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อคือขอให้เรายอมเปลี่ยนแปลงท่าทีเหล่านี้  เพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์  เพื่อเสริมสร้างให้คริสตจักรเจริญขึ้น และเป็นที่ชอบพอพระทัยของพระเจ้าร่วมกัน  อาเมน