หนังสือชุด การดำเนินชีวิตคริสเตียนในยุคสุดท้าย
เล่มที่ ๑
เรื่อง จงกลับใจใหม่
เขียนโดย จำปา ร้องคำ ปี ๒๐๑๔
คำนำ
การกลับใจใหม่ คริสเตียนส่วนมากมักจะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเรื่องของคนที่ยังไม่เชื่อในพระเยซูคริสต์ ที่ต้องกลับใจใหม่และรับเชื่อในพระองค์ และภายหลังจากนั้นก็ไม่ต้องกลับใจอีก เป็นการเข้าใจผิดอย่างมหรรย์เลย แท้จริงการกลับใจใหม่ยังต้องใช้สำหรับการดำเนินชีวิตคริสเตียนตราบที่เขายังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ หากคริสเตียนคนนั้นภายหลังรับเชื่อแล้วไม่กลับไปทำบาปอีก หรือ ไม่ผิดพลาด ไม่หลงผิด ไม่พ่ายแพ้ต่อการทดลอง ไม่ละเมิดต่อกฎบัญญัติของพระเจ้า และชีวิตไม่ต้องการรับการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะสมบูรณ์แบบแล้ว นั่นแหละคำว่า “ กลับใจใหม่ ” จึงไม่มีความจะเป็นสำหรับเขาอีกต่อไป หากไม่เช่นนั้นแล้ว คริสเตียนทุกคนยังต้องกลับใจใหม่เสมอ ไม่ว่าจะเชื่อมานานแล้วก็ตาม เมื่อผิดพลาดทำบาป พ่ายแพ้ต่อการทดลองในชีวิตประจำวัน บางคนก็ห่างจากพระเจ้าไป และบางคนก็ถึงกับหันหลังให้กับพระเจ้าไปดำเนินชีวิตตามแบบอย่างคนในโลกนี้ เขาจะต้องกลับใจใหม่จากสิ่งที่ผิดพลาดนั้นๆ หรือยังมีนิสัยที่ไม่ดีหลายอย่างที่ต้องรับการปรับปรุงแก้ไข จากพระเจ้า เขาต้องกลับใจหันหลังให้กับนิสัยเดิมและเริ่มฝึกนิสัยใหม่แทน เพื่อจะเป็นเหมือนพระเยซูมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับพระเยซูในวันที่พระองค์เสด็จมากหรือจากโลกนี้ไปพบพระองค์ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับคริสเตียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้เชื่อใหม่หรือเชื่อนานแล้ว ตลอดทั้งผุ้ที่ปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าอยู่ทุกตำแหน่ง
“ จงกลับใจใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว ”
ในพระธรรมมาระโก ๑:๑-๘ และพระธรรมมัทธิว ๓:๑-๑๒
ข่าวประเสริฐเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ได้ถูกประกาศออกไปทั่วโลกกว่าสองพันปีมาแล้ว และยังประกาศต่อไปจนกว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมาครั้งที่สอง เนื้อหาสาระไม่เปลี่ยนแปลง แต่วิธีการประกาศอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยุคสมัย ในสมัยพระเยซูและอัครสาวกของพระองค์ในตอนต้นๆ นั้น จะประกาศโดยใช้คำพูดถึงกันเท่านั้น และในยุคต่อๆ มาก็มีสื่อเข้ามาช่วยมากขึ้น จวบจนถึงสมัยปัจจุบันนี้มีสื่อเป็นจำนวนมาก เช่น สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ทำให้การประกาศขยายวงกว้างออกไปข้ามนานาประเทศทั่วโลก โดยที่ตัวผู้สื่อไม่ต้องพาตัวเองออกไป และด้วยวิธีการประกาศเหล่านี้ ก็มีคนตอบสนองเป็นจำนวนมาก
ในสมัยของพระเยซูนั้นก็มีคนนับหมื่นที่ติดตามพระองค์ และเมื่อถึงสมัยสาวกของพระเยซูก็มีผู้คนรับเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ครั้งละหลายพันคน จวบจนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังมีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ตอบสนองต่อการใช้สื่อในแต่ละครั้ง เช่นการเทศนา นักเทศน์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ดร.บิลลี่ แกรแฮม, ดร.เบนนี่ ฮินน์, ดร.มาเฮช เชพดา และท่านอื่นๆ ที่ไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้ ท่านเหล่านี้ได้นำคนนับแสนนับล้านมารับเชื่อในพระเยซูคริสต์ และมีตัวอย่างบางสื่อที่ใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง ดังจะนำมาเสนอเป็นตัวอย่างให้ทราบ ซึ่งได้นำคนมาถึงพระเยซูคริสต์ และวัดผลให้เห็นได้ในช่วงเวลานั้น เช่น
– ภาพยนตร์เรื่อง ชีวิตพระเยซูคริสต์ ของแคมพัสครูเสดได้นำคนเป็นล้านๆ มาเชื่อในพระเยซูคริสต์ และได้เกิด
คริสตจักรใหม่ขึ้นมากมาย
– รายการโทรทัศน์ของคริสเตียนที่ได้ออกอากาศไปหลายช่องทั่วโลกทำให้มีการตอบสนองมากจากทั่วทุกมุมโลกทั้ง
ทางจดหมายและโทรศัพท์
– รายการวิทยุก็มีคนตอบสนองโดยการเขียนจดหมายตอบกลับมาเป็นจำนวนมากเช่นกัน
– ภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ แพสชั่น ออฟ เดอะ ไครสต์” ก็มีผลทำให้คนตอบสนองเช่นกันไม่ว่าจะออกฉายที่ไหน ๆ
และยังรวมถึงการประกาศด้วยสื่อในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน หลายครั้ง เราจะเห็นผลสรุปรายงานตัวเลขคนที่ตอบสนองข่าวประเสริฐ หรือคนที่อธิษฐานต้อนรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดนั้นจำนวนตัวเลขค่อนข้างสูง นี่คือการตอบสนองข่าวประเสริฐเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ในทุกยุคทุกสมัย คนที่ตอบสนองข่าวประเสริฐเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่สมัยพระเยซูมาจวบจนปัจจุบันนั้น เราไม่ทราบว่าแรงจูงใจของเขาที่แท้จริงนั้นเนื่องมาจากอะไร มีคนตอบสนองเป็นจำนวนมากก็จริงแต่ไม่ใช่ทุกคนที่ติดตามพระเยซูอย่างจริงจังและตลอดชีวิตของเขา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อะไรเป็นสาเหตุ ที่ทำให้คนถดถอยในความเชื่อซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์ และหลายคนก็ละทิ้งทางแห่งความเชื่อนี้ไปในที่สุด
ซึ่ง สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยปัจจุบันเท่านั้น แต่ได้มีมาตั้งแต่สมัยพระเยซูมาแล้ว จากคำสอนของพระองค์ตอนหนึ่ง ที่ทำให้เราพอจะทราบถึงสาเหตุที่ทำให้คนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ติดตามพระเยซูอย่างแท้จริงและตลอดชีวิตของเขา สิ่งนั้นก็คือ แรงจูงใจที่ไม่ถูกต้องตามพระประสงค์ของพระเจ้า ในการมาเชื่อในพระเยซูคริสต์นั่นเอง คนส่วนหนึ่งแรงจูงใจของเขาอาจจะมาจากปัจจัย หรือความต้องการฝ่ายร่างกายที่จะดำรงชีวิตในโลกนี้ให้ดีขึ้น เช่น อาหาร, ความเป็นอยู่, หน้าที่การงาน, การเงิน, สุขภาพร่างกาย, ปัญหาต่างๆ และในด้านจิตใจก็ ต้องการความสุข, ความสบายใจ, ต้องการเป็นที่ยอมรับ, ต้องการความรักความอบอุ่น ต้องการสังคมที่ดีบางครั้งก็ตามเพื่อนมา สรุปแล้วก็คือเพราะต้องการความช่วยเหลือหรือพระพรนั่นเอง คนอีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะเห็นแก่การอัศจรรย์ ปาฏิหารย์ต่างๆ ด้วยการตอบสนองข่าวประเสริฐโดยมีศูนย์กลางที่ฝ่ายร่างกาย และจิตใจของตนเองในโลกนี้เป็นหลักนั้น จะทำให้การติดตามพระเยซูในชีวิตของเขาจะอยู่ได้ไม่นาน อันที่จริงพระพรและความช่วยเหลือเป็นผลพลอยได้มาจากความเชื่ออย่างแท้จริงอยู่แล้ว สำหรับคนที่มาเชื่อเพราะแรงจูงใจเนื่องมาจากปัจจัย ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น หากเขาไม่ได้รับตามที่ต้องการหรือทางของพระเจ้ามาขัดต่อผลประโยชน์ส่วนตัว เขาก็จะละหรือเลิกติดตามพระเยซูไปในที่สุด ความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากความต้องการของตนเองเป็นศูนย์กลางนั้น จะไม่มีผลต่อการหลุดพ้นจากบาปจากกรรมเวร หรือที่จะนำไปสู่ความรอดและมีส่วนในแผ่นดินสวรรค์ ได้ เพราะเขาไม่ได้ติดตามพระเยซูตามที่พระองค์ทรงประสงค์ ความเชื่อในพระเยซูคริสต์อย่างถูกต้อง ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนตอบสนองนั้นก็คือ การกลับใจใหม่ ตามที่ท่านยอห์นแบ็พติสและพระเยซูคริสต์ได้ประกาศ ก็คือ
ก. ประการแรก จงกลับใจเสียใหม่
ในพระธรรมมาระโก ๑:๔, และพระธรรมมัทธิว ๔:๑๗ บันทึกว่า “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว ” เรามักจะได้ยินคนที่ยังไม่เป็นคริสเตียนกล่าวว่า การไปสวรรค์ของคริสเตียนนั้นง่ายจัง เพียงกล่าวคำอธิษฐานเชิญพระเยซูคริสต์เข้ามาในใจสั้นๆ ก็รอดพ้นจากบาปกรรมและก็ได้ไปสวรรค์แล้ว หรือเพียงแต่เชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียวผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และจักรวาล และมาโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ถวายทรัพย์ หรืออาจจะเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎต่างๆ เท่าที่ทำได้ แต่ก็ยังดำเนินชีวิตปกติเหมือนเดิมก่อนมาเชื่ออย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้น หรือที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ คิดว่าอย่างไรเสียก็ได้ไปสวรรค์แน่นอน และเมื่อทำบาปก็สารภาพได้ จึงยังดำเนินชีวิตในบาปอยู่ หลายคนอาจจะคิดเช่นนั้น แต่พระคัมภีร์สอนไว้ว่าอย่างไร
ในพระธรรมยากอบ ๒:๑๙-๒๐ ได้บันทึกไว้ว่า “ท่านเชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นหนึ่งนั้นก็ดีอยู่แล้ว และพวกปีศาจก็เชื่อ และกลัวจนตัวสั่น แน่ะคนโฉดเขลา ท่านต้องการให้พิสูจน์หรือว่า ความเชื่อที่ไม่ประพฤติตามนั้นไร้ผล” แน่นอนเมื่อเรามารับความรอดจากพระเยซูนั้นไม่ใช่เพราะคุณงามความดีของเรา แต่ภายหลังที่รับเชื่อและได้รับความรอดแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องดำเนินชีวิตหรือประพฤติตามแนวทางแห่งความรอดที่พระเยซูสอนไว้ บางครั้ง คริสเตียนยังไม่เกรงกลัวพระเจ้าจนตัวสั่นเท่ากับปีศาจหรือผีมารซาตานเลย ท่านนิโคเดมัสเอง เป็นผู้เคร่งในกฎบัญญัติ(ศาสนา) พระเยซูคริสต์ยังตรัสกับเขาในพระธรรมยอห์น ๓:๓ ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่ ผู้นั้นจะเห็นแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้” คือถ้าไม่กลับใจและรับการเปลี่ยนแปลงชีวิต และบังเกิดใหม่ฝ่ายวิญญาณ จะเข้าแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้ คือเข้าสวรรค์ไม่ได้นั่นเอง ฉะนั้นการกลับใจใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นชีวิตคริสเตียน และในการที่จะเข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “กลับใจใหม่” ก่อน
๑. ความหมายคำว่า “กลับใจใหม่” แปลว่า “การมีท่าทีภายในที่หันหลังกลับจากบาป ซึ่งเป็นการตัดสินใจ ไม่ใช่เป็นความรู้สึกและอารมณ์เท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกมาเป็นการกระทำภายนอกอย่างชัดเจน” เป็นสภาวะในใจของคนนั้นที่ไม่พอใจในสภาพที่เป็นอยู่ รู้สึกผิดในทางที่เดินอยู่ เสียใจต่อการกระทำของตน อยากเปลี่ยนแปลง อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ขวนขวายแสวงหาที่จะพบทางที่ถูก ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้สึกเสียใจต่อการกระทำของตนเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้ก็ยังไม่ได้เรียกว่ากลับใจ การกลับใจใหม่จริงๆ แล้ว แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงจิตใจและความคิดอย่างลึกซึ้ง รุนแรง เป็นการยอมจำนนทางความคิดและจิตใจต่อพระเจ้าในทุกๆ จุด เป็นการหันหลังกลับจากทางบาป เช่นเมื่อเดินทางผิดเขาหันหลังกลับ ๑๘๐ องศา คือหันหลังให้บาปและความชั่วและสิ่งไม่ดีทั้งสิ้นหรือในวิถีของโลกที่ทำอยู่ซึ่งเป็นการไม่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า “อย่าประพฤติตามอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่…”(พระธรรมโรม ๑๒:๒) การที่คนหนึ่งรู้ว่าอะไรไม่ดีและยังทำในสิ่งนั้นอยู่ หรือการที่รู้ว่าอะไรดีและไม่ได้กระทำ เป็นความบาปทั้งสองเช่นกัน ตามพระธรรมยากอบ ๔:๑๗ “เหตุฉะนั้นผู้ใดรู้ว่าอะไรเป็นความดีและไม่ได้กระทำ คนนั้นจึงมีบาป” และการรู้สึกสำนึกผิดและเสียใจในสิ่งที่ตนทำ แต่ก็ยังดำเนินอยู่ในทางนั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอเพราะยังปล่อยตัวจมอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งตรงกันข้ามกับบุตรน้อยหลงหาย ที่เขาไม่เพียงได้สำนึกผิดเท่านั้น แต่ได้ลุกขึ้นออกจากสถานการณ์เและลุกขึ้นกลับไปหาบิดา ซึ่งปรากฎในพระธรรมลูกา ๑๕:๑๗ “เมื่อเขารู้สึกสำนึกตัวแล้ว จึงพูด(กับตัวเอง)ว่า ลูกจ้างของบิดาเรามีมาก ยังมีอาหารกินอิ่มและเหลืออีก ส่วนเราจะมาตายเสียที่นี่เพราะอดอาหาร จำเราจะลุกขึ้นไปหาบิดาเรา และพูดกับท่านว่า บิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าได้ผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่านด้วย ข้าพเจ้าไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของท่านต่อไป ขอท่านให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนลูกจ้างของท่านคนหนึ่งเถิด แล้วเขาก็ลุกขึ้นไปหาบิดาของตน …” ถ้าบุตรน้อยเพียงรู้สึกผิดแต่ไม่ยอมลุกขึ้นไปหาบิดา ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิต เขาก็ยังเป็นคนเลี้ยงหมู กินอาหารกับหมูที่ยังสกปรกอยู่ เขาจำต้องลุกขึ้นหันหลังให้กับชีวิตที่เป็นลูกจ้างเลี้ยงหมูที่ลำบาก มุ่งหน้าเดินตรงไปหาบิดา และเขาก็ได้รับการยอมรับจากบิดา ให้กลับมาเป็นบุตรเหมือนเดิม เช่นเดียวกันกับชีวิตคริสเตียนในปัจจุบันที่กลับใจมาหาพระเจ้า หลายครั้งที่รู้ว่าอะไรผิดและรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดีแต่ก็ยังทำอยู่ ยังดำเนินชีวิตอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เมื่อมีการฟื้นฟูหรือฟังคำเทศนา หรือได้ศึกษาพระวจนะ อ่านพระวจนะ ก็อาจจะรู้สึกสำนึกว่าตนผิดและเสียใจร้องไห้สารภาพบาปซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ภายหลังจากนั้นถ้ากลับไปมีชีวิตแบบเดิมอยู่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิตก็ไม่มีประโยชน์อะไร นั่นยังไม่ใช่การกลับใจที่แท้จริงเป็นเพียงแค่รู้สึกเสียใจในการทำบาป เป็นเพียงขั้นต้นของการกลับใจ การกลับใจที่แท้จริงคือต้องออกจากบาป จากทางและสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายแหล่ เลิกทำและหันหลังให้กับมัน กลับมาเดินในทางของพระเจ้าเข้าสู่สิ่งที่ดีคือวิถีของพระองค์ตามพระวจนะที่ได้ทรงสอนไว้ และตั้งใจที่จะเดินในทางนี้ตลอดไป และยอมที่จะเรียนรู้มากขึ้นเพื่อจะปฏิบัติตาม
๒. เราควรกลับใจจากอะไร ?
(๒.๑) กลับใจจาก รูปเคารพ ในพระธรรมอพยพ ๒๐:๔-๖ เป็นข้อห้ามหนึ่งในบัญญัติสิบประการ ปรากฎอยู่ในข้อที่ ๒ ว่า “อย่าทำรูปเคารพสำหรับตน เป็นรูปสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าเบื้องบน หรือบนแผ่นดินเบื้องล่างหรือในน้ำใต้แผ่นดิน อย่ากราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น เพราะเราคือพระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่หวงแหน ให้โทษบิดาตกทอดไปถึงลูกหลานของผู้ที่ชังเราจนถึงสามชั่วสี่ชั่วอายุคน แต่เราแสดงความรักมั่นคงต่อคนที่รักเรา และปฏิบัติตามบัญญัติของเราจนถึงพันชั่วอายุคน” พระวจนะตอนนี้กล่าวถึงสิ่งที่เราเคยนมัสการหรือกราบไหว้บูชาปรนนิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันก่อนที่จะมาเชื่อในพระเยซูคริสต์ ในพระธรรมมัทธิว ๖:๒๔ “ไม่มีผู้ใดเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้ เพราะว่าจะชังนายข้างหนึ่ง และจะรักนายอีกข้างหนึ่ง หรือจะนับถือนายฝ่ายหนึ่งและจะดูหมิ่นนายอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านจะปฏิบัติพระเจ้าและจะปฏิบัติเงินทอง(รูปเคารพ) พร้อมกันไม่ได้” ไม่เพียงแต่เป็นรูปเคารพโดยตรงที่มือมนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเท่านั้น ยังรวมไปถึงธรรมชาติด้วย ได้แก่ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ดวงดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ฯลฯ เพราะเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง และอาจรวมไปถึงสิ่งของซึ่งเรารักและให้ความสำคัญมากกว่าพระเจ้าด้วย ในพระธรรม ๑ยอห์น ๒:๑๕-๑๖ ได้กล่าวว่า “อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก ถ้าผู้ใดรักโลก ความรักต่อพระบิดาไม่ได้อยู่ในผู้นั้น เพราะสารพัดซึ่งมีอยู่ในโลก คือตัณหาของเนื้อหนังและตัณหาของตา และความทะนงในลาภยศไม่ได้เกิดมาจากพระบิดา แต่เกิดมาจากโลก”สิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากกว่าพระเจ้า อาจจะเป็นสิ่งของหรือบุคคลก็ได้ที่ทำให้เราลดความสำคัญของพระเจ้าน้อยลง ในพระธรรมฟิลิปปี ๓:๑๙ “ปลายทางของคนเหล่านั้นคือความพินาศ พระของเขาคือกระเพาะ เขายกความที่น่าอับอายของเขาขึ้นมาอวด เขาสนใจในวัตถุทางโลก” อาหารและวัตถุทางโลกคือพระเจ้าของเขาซึ่งให้ความสำคัญมากกว่าพระเจ้าที่แท้จริง เราจะต้องเรียงลำดับความสำคัญในชีวิต คือจัดระเบียบใหม่ สิ่งที่ไม่ดีเอาออกไป และให้ความสำคัญพระเจ้ามาเป็นที่หนึ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะในพระธรรมมัทธิว ๖.๓๓ “แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้” ความบาปบางอย่างก็เป็นเหมือนรูปเคารพด้วย เช่นในพระธรรมโคโลสี ๓:๕ “เหตุฉะนั้นจงประหารโลกียวิสัยในตัวท่านเสีย มีการล่วงประเวณี การโสโครก ราคะตัณหา ความปรารถนาชั่ว และความโลภซึ่งเป็นการนับถือรูปเคารพ” และในพระธรรมเอเฟซัส ๕:๕ “ท่านจงรู้แน่ว่า คนล่วงประเวณี คนลามก คนละโมบ (ที่เป็นเหมือนคนที่นับถือรูปเคารพ) จะมีส่วนในแผ่นดินของพระคริสต์และพระเจ้าเป็นมรดกก็หามิได้” อะไรคือรูปเคารพในชีวิตของเราจะต้องกลับใจหันหลังให้กับสิ่งเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นรูปเคารพจริงๆ หรือสิ่งที่รักและหวงแหนมากกว่าพระเจ้า หรือความบาปที่ยังรักที่จะทำซึ่งเป็นเหมือนรูปเคารพ ไม่เช่นนั้นท่านจะไม่มีส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า การที่เรามีเงินทองหรือสิ่งของในโลกตลอดทั้งคนที่เรารักนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดเลย แต่อย่าให้มันมีอิทธิพลในชีวิตมากกว่าพระเจ้า หากเราจัดลำดับความสำคัญถูกต้องคือให้พระเจ้าเป็นที่หนึ่งในทุกเรื่องและทุกสิ่งเสมอ เพื่อสิ่งเหล่านั้นจะไม่ได้มาเป็นรูปเครพในชีวิตของเรา และเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตกับพระเจ้า ที่สำคัญเป็นสิ่งขัดขวางพระพรของพระเจ้าที่จะมาถึงเรา
(๒.๒) กลับใจจากบาป คำว่า “บาป” ความหมายที่หนึ่งคือ ในพระธรรม ๑ยอห์น ๓:๔ “ผู้ที่กระทำบาปก็ประพฤติผิดธรรมบัญญัติ บาปเป็นสิ่งที่ผิดธรรมบัญญัติ” บาป คือการทำผิดกฎบัญญัติ กฎศีลธรรมคำสอนที่ดีของศาสนา รู้แล้วยังทำเป็นการละเมิด ฝ่าฝืน ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วใครล่ะที่ทำบาป แน่นอนทุกคนตามพระธรรมโรม ๓:๑๐และ๒๓ “ตามที่พระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า ไม่มีผู้ใดเป็นคนชอบธรรม (คือคนดีพร้อม) สักคนเดียว ไม่มีเลยเพราะว่าทุกคนทำบาปและเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” ขาดการให้เกียรติพระเจ้า ไม่นมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ ในโลกนี้ไม่มีคนดีที่สมบูรณ์หรือดีพร้อมทุกอย่าง เพราะหากไม่ทำผิดทางความคิดก็ทำผิดทางวาจา และถ้าไม่ทำผิดทางวาจาก็ทำผิดทางการกระทำ แต่ละวันทำผิดไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งหลงผิดอยู่เรื่อยไป เห็นผิดเป็นชอบก็บ่อย ไม่เชื่อฟังพระเจ้าอยู่เสมอ ชอบละเมิด ฝ่าฝืนกฎ ไม่อยู่ในร่องในรอย นอกลู่นอกทาง ทำผิดทางด้านศีลธรรม เต็มไปด้วยกาม ละโมบ สกปรก ลามก โลภ ชอบเป็นทาสของบาปทางเนื้อหนังกิเลส จิตใจเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา โกรธ เกลียด ชิงชัง ไม่ให้อภัย ทำตามความต้องการของตนที่ขัดกับคำสอนที่ดีที่ได้เรียนรู้มาและต่อคำสอนของพระเจ้าด้วย รู้อะไรดีก็ไม่ทำ และอะไรที่ไม่ดีรู้อยู่แต่ก็ยังทำอยู่เรื่อยไป เอาใจของตนเองเป็นที่ตั้ง และไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของผู้มีอำนาจทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัวจนไปถึงสังคมข้างนอกรวมถึงกฎหมายบ้านเมืองด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นความบาปทั้งสิ้นและผลของมันก็คือ ในพระธรรมโรม ๖:๒๓ “เพราะว่าค่าจ้างของความบาปคือความตาย แต่ของประทานจากพระเจ้าคือชีวิตนิรันดร์ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา”การทำบาปต้องมีการเก็บเกี่ยวผลในชีวิตนี้ หรือที่เราเรียกว่าผลกรรมนั่นเอง และชีวิตหน้าก็คือผลของบาปทุกอย่างนำมาซึ่งความพินาศ ความตายในนรกบึงไฟ การแช่งสาปและสุดท้ายจะต้องพบกับการพิพากษาของพระเจ้าทุกคน ฉะนั้นเราจะต้องกลับใจจากความบาปเมื่อต้อนรับเอาพระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้าและได้รับชีวิตนิรันดร์จากพระองค์แล้ว เราควรดำเนินชีวิตตามทางของพระเจ้าและเรียนรู้จากพระคำของพระองค์ ตั้งใจที่จะเชื่อฟังซึ่งจะทำให้ชีวิตมีเสรีภาพฝ่ายวิญญาณ หากไม่ยอมรับเสรีภาพที่มาจากพระเจ้าเพื่อจะประกอบการดี แต่กลับไปดำเนินชีวิตเหมือนเดิม คือกลับไปทำบาปอีก ในพระธรรมโรม ๖:๑๖ กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่า ถ้าท่านยอมตัวรับใช้ฟังคำของผู้ใด ท่านก็เป็นทาสของผู้ที่ท่านเชื่อฟังนั้น คือเป็นทาสของบาปซึ่งนำไปสู่ความตาย หรือเป็นทาสของการเชื่อฟังซึ่งนำไปสู่ความชอบธรรมก็ตาม” ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ เราเกิดมาในความบาปและเป็นทาสบาป แม้แต่คริสเตียนเป็นจำนวนมากก็ยังเป็นทาสบาปอยู่ และคนที่เป็นทาสก็จะไม่รู้ว่าตนเป็นทาส การเป็นทาสก็คือสิ่งใดก็ตามที่มีอำนาจเหนือชีวิตเราและสั่งเราได้ และเราก็ไม่สามารถต้านอำนาจนั้นจำต้องทำตาม เช่น บางคนเป็นทาสสิ่งเสพติด, อาหาร, สิ่งบันเทิงทุกรูปแบบ, ละคร, หนังแผ่น, อินเทอร์เน็ต, เกมส์, เป็นทาสความปรารถนาของตน, ความโลภ, ลามกสกปรก, อิจฉา ริษยา เป็นต้น ถ้ามันควบคุมความประพฤติของเราแล้ว และเราไม่สามารถที่จะเอาชนะมันได้แม้รู้ว่าไม่ดีก็ยังทำอยู่ ไม่มีกำลังที่จะต้านทาน เราต้องกลับใจคือเลิกสิ่งเหล่านี้เสีย อธิษฐานขอกำลังจากพระเจ้าทุกวันที่จะช่วยให้เรามีชัยชนะต่อความชั่วและประกอบการดีแทนได้ และโดยฤทธิ์อำนาจของพระเยซูคริสต์ภายหลังที่พระองค์ทรงเป็นขึ้นจากความตายจะช่วยเราให้หลุดพ้นจากสิ่งที่จำจองเราทั้งสิ้น เราจะมีชีวิตที่มีเสรีภาพในการประกอบการดี
(๒.๓) กลับใจจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้ฟังมาและไม่ได้ทำตาม ในพระธรรมวิวรณ์ ๓:๒-๓ กล่าวว่า “เจ้าจงตื่นขึ้นและกระตุ้นส่วนที่เหลืออยู่ ซึ่งจวนจะตายอยู่แล้วนั้นให้แข็งแรงขึ้นเพราะว่าเราไม่พบการประพฤติของเจ้าที่ดีพร้อมในสายพระเนตรของพระเจ้า เหตุฉะนั้นเจ้าจงระลึกว่าเจ้าได้รับและได้ยินอะไร จงกระทำตามและกลับใจเสียใหม่ ถ้าเจ้าไม่เฝ้าระวัง เราจะมาหาเจ้าเหมือนอย่างขโมยและเจ้าจะไม่รู้ว่าเรามาหาเจ้าเมื่อไร” และในพระธรรมยากอบ ๑:๒๒-๒๕ กล่าวว่า “แต่ท่านทั้งหลายจงเป็นคนที่ประพฤติตามพระวจนะนั้น ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้น ซึ่งเป็นการลวงตนเอง เพราะว่าถ้าผู้ใดฟังพระวจนะและไม่ได้ประพฤติตาม ผู้นั้นก็เป็นเหมือนคนที่ดูหน้าของตัวในกระจกเงา เพราะว่าเมื่อดูตัวเองแล้วก็ไป และก็ลืมในทันทีนั้นว่าตัวเองเป็นอย่างไร แต่ผู้ที่พิจารณาดูในวิสุทธิบัญญัติซึ่งเป็นพระบัญญัติแห่งเสรีภาพ และตั้งอยู่ในพระบัญญัตินั้น มิได้เป็นผู้ฟังแล้วก็หลงลืมแต่เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตาม ผู้นั้นก็จะได้รับความสุขเพราะการประพฤติปฏิบัติของตน” เราต้องยอมรับว่าทุกคนที่เกิดมาเจริญเติบโตจนถึงทุกวันนี้ ได้เรียนรู้ ได้ยิน ได้ฟังสิ่งที่ดีมา (ยกเว้นสิ่งที่ไม่ดี) จากบิดา มารดา คนที่เลี้ยงดู จากครูบาอาจารย์ จากศาสนาที่นับถือ ตลอดทั้งสิ่งที่ได้รับการเรียนรู้มาว่าอะไรดีและไม่ดีมาบ้าง ตลอดทั้งจิตวินิจฉัยผิดและชอบ (มโนธรรม) ก็บ่งบอกให้รู้ถึงสิ่งที่ดีและไม่ดี โดยเฉพาะเมื่อเรามาเชื่อในพระเยซูคริสต์และเรียกตัวเองว่าเป็นคริสเตียนแล้ว เราได้เรียนรู้ ฟังและอ่านพระวจนะ ซึ่งเป็นการรับเข้ามาในชีวิต หากเพิกเฉยและละเลยไม่ประพฤติตามพระวจนะนั้น ยิ่งไปกว่านั้นหลายครั้งเวลาฟังเทศนาที่ตรงกับความผิดของตนแทนที่จะกลับใจจากสิ่งเหล่านั้นตามที่ได้ฟังพระวจนะเตือน ตรงกันข้ามกลับคิดตำหนินักเทศน์ว่าเทศนาว่าตน แท้จริงนั่นเป็นอำนาจของพระวจนะตามพระธรรมฮีบรู ๔:๑๒ “เพราะว่าพระวจนะของพระเจ้านั้นไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ คมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆ แทงทะลุกระทั่งจิตและวิญญาณตลอดข้อในกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย” ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อพระวจนะที่เขาได้เรียน ได้รู้ ได้ฟัง หากเป็นแค่ผู้ฟังอย่างเดียวก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรในชีวิต กลับเป็นภาระเมื่อรู้แล้วและไม่ได้ทำตามและทุกข์หนักขึ้น เราต้องกลับใจทุกครั้งที่ได้รับพระวจนะซึ่งได้สอนและเตือนสติ เพื่อนำเข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขในชีวิต ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของพระวจนะในพระธรรม ๒ทิโมธี ๓:๑๖-๑๗ “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การปรับปรุงแก้ไขคนให้ดี และการอบรมในทางธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะพรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง”
๓. สารภาพ การสารภาพเป็นการยอมรับผิดต่อพระเจ้าและต่อมนุษย์ เมื่อเรารู้ตัวว่าได้ทำผิดบาปไป จงอธิษฐานสารภาพบอกความผิดที่เราทำอย่างชัดเจนกับพระเจ้า คือทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร ไม่ใช่สารภาพรวบยอดโดยอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนผิดคนบาปขอพระเจ้าทรงยกโทษ” ความจริงก็คือไม่ใช่พระเจ้าไม่ทราบถึงบาปที่เราทำ แต่เป็นการย้ำให้ตัวเราเองตระหนักถึงความผิดที่เราได้กระทำไป หากทำผิดกับมนุษย์ด้วยกันก็ต้องไปหาเขาและบอกถึงความผิดของเรากับเขาว่า “เสียใจ” ในสิ่งที่ได้ทำผิดกับเขาเรื่องอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เรากลับไปทำผิดกับเขาในเรื่องเดิมอีก หากความผิดของเราเหมือนศักเคียสก็ต้องมีการจ่ายคืน คือถ้าได้โกง ขโมย ทรัพย์สิ่งของๆ คนอื่นมา ดังปรากฏในพระธรรมลูกา ๑๙:๘-๙ “ฝ่ายศักเคียสยืนทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า ดูเถิดพระเจ้าข้า ทรัพย์สิ่งของของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ยอมให้คนอนาถากึ่งหนึ่ง และถ้าข้าพระองค์ได้ฉ้อโกงของของผู้ใด ข้าพระองค์ยอมคืนให้เขาสี่เท่า(ตามกฎบัญญัติของพวกยิว) พระเยซูตรัสกับเขาว่า วันนี้ความรอดมาถึงครอบครัวนี้แล้ว” หรือการเป็นหนี้ก็ต้องมีการจ่ายคืน ไม่ควรเพิกเฉย ซึ่งขาดความรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นพระเจ้าไม่สามารถอวยพรในชีวิตเราได้
๔. ละทิ้ง เมื่อกลับใจและสารภาพจากสิ่งที่ไม่ดีซึ่งเป็นความบาปแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ ต้องละทิ้งสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ รูปเคารพ หรือสิ่งที่บูชา หรือสิ่งที่นมัสการแทนพระเจ้า หรือเครื่องลางของขลังทุกชนิด เอาออกจากชีวิต จากบ้านเรือน นำไปทำลายหรือเผาเสีย (อย่าทำเอง ต้องปรึกษาผู้นำในคริสตจักรก่อน) ตัวอย่างในพระธรรมกิจการ ๑๙:๑๘-๑๙ “มีหลายคนที่เชื่อแล้วได้มาสารภาพและเปิดเผยว่า เขาได้ใช้เวทมนตร์ และหลายคนที่ใช้เวทมนตร์คาถา ได้เอาตำราของตนมาเผาไฟเสียต่อหน้าคนทั้งปวง ตำราเหล่านั้น คิดเป็นราคาเงินถึงห้าหมื่นเหรียญ” และสิ่งที่จะต้องละทิ้งต่อไปคือนิสัยบาปทั้งหลายแหล่ เลิกนิสัยที่ไม่ดีและฝึกนิสัยใหม่จากพระคัมภีร์ที่สอนไว้ เลิกสิ่งเสพติดทั้งหมดซึ่งเป็นสิ่งที่เราเสพเข้าไปในตัวเราไม่ว่าจะเป็นทางปาก ตา หู ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ซีดีสกปรกลามก, หนังสือลามก, เกมส์ที่ติดหรืออินเทอร์เน็ตที่นำชีวิตเราเข้าไปหาบาปนั้นก็จะไม่เข้าไปอีก ไม่ควรนำไปให้คนอื่นด้วย ต้องทำลายและนำไปทิ้ง บางครั้งแม้แต่เสื้อผ้าก็ยังต้องทิ้งเพราะอาจจะมีบางคนเคยทำงานในสถานเริงรมณ์ เคยมีเสื้อผ้าที่ใส่แล้วโป๊ ไม่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าก็ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย หรือบางทีทรงผมก็ยังต้องเปลี่ยนเพราะไม่สุภาพ เช่นชายไว้ผมยาวเหมือนหญิง หรือหญิงตัดทรงผมเหมือนชาย ทรงประหลาดตามสมัยนิยม เป็นต้น ควรเปลี่ยนเป็นทรงผมที่สุภาพ ในพระธรรม ๑โครินธ์ ๑๑:๑๔-๑๕ “ธรรมชาติไม่ได้สอนท่านหรือว่า ถ้าผู้ชายไว้ผมยาวก็เป็นที่น่าอาย แต่ถ้าผู้หญิงไว้ผมยาวก็เป็นสง่า เพราะว่าผมเป็นสิ่งที่ประทานให้แก่เขาเพื่อคลุมศรีษะ” เครื่องดื่มที่ติดซึ่งเป็นของมึนเมาที่อาจจะซื้อมาด้วยราคาแพงที่ตั้งโชว์ไว้ ก็ต้องเอาออกไปทิ้งทั้งสิ้น เพราะว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะล่อลวงให้เรากลับไปตกหลุมพลางของบาปอีก และจะเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางในการติดตามพระเยซู เราต้องสลัดทิ้งไป อาชีพใดที่ทำแล้วไม่ถูกต้องหรือไม่ถวายเกียรติ เช่น ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม ส่งเสริมความบาป และเป็นสถานที่ไม่เหมาะสม เล่นหรือร้องเพลงในผับในบาร์ ทำงานที่ไม่สัตย์ซื่อ เราก็ควรเปลี่ยนอาชีพ สิ่งเหล่านี้เป็นการเปรียบเทียบกับการทำบาปที่ร้ายแรง ในพระธรรมมัทธิว ๕:๒๗-๓๐ กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองผู้หญิงเพื่อให้เกิดใจกำหนัดในหญิงนั้น ผู้นั้นได้ล่วงประเวณีในใจกับหญิงนั้นแล้ว ถ้าตาข้างขวาของท่านทำให้ตัวหลงผิด จงควักออกเสีย เพราะว่าถึงจะเสียอวัยวะอย่างหนึ่งก็ดีกว่าตัวของท่านจะต้องตกนรก ถ้ามือข้างขวาทำให้หลงผิดจงตัดทิ้งเสีย เพราะถึงจะเสียอวัยวะอย่างหนึ่งก็ดีกว่าตัวท่านจะต้องลงนรก” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจะต้องตัดจริงๆ ถ้าเช่นนั้นเราจะไม่เหลืออวัยวะเลย แต่เป็นการบอกให้รู้ว่า เราจะต้องเอาจริงเอาจังกับบาป ที่จะปิดช่อง, ตัด, ทำลาย สิ่งที่จะนำเข้าไปในการทดลองให้ทำบาปอีก ไม่มีใครที่แข็งแรงตลอดเวลาหรือชนะเสมอไป จึงมีคำเตือนจากพระคัมภีร์ว่า “เหตุฉะนั้นคนที่คิดว่าตัวเองมั่นคงดีแล้ว ก็จงระวังให้ดี กลัวว่าจะล้มลง” ในพระธรรม ๑โครินธ์ ๑๐:๑๒
ข. ประการที่สอง ใครบ้างที่ต้องกลับใจใหม่
ในพระธรรมมัทธิว ๓:๕-๗) “ขณะนั้นชาวกรุงเยรูซาเล็ม และคนทั่วแคว้นยูเดีย และคนทั่วลุ่มแม่น้ำจอร์แดนก็ออกไปหายอห์น สารภาพความผิดบาปของตน และได้รับบัพติศมา* จากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน * พิธีที่ใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ เล็งถึงการที่พระเจ้าทรงให้อภัยคนบาป * ครั้นยอห์นเห็นพวกฟาริสี และพวกสะดูสีพากันมาเป็นอันมาก เพื่อจะรับบัพติศมา ท่านจึงกล่าวแก่เขาว่า “เจ้าชาติงูร้าย* ใครได้เตือนเจ้าให้หนีจากพระอาชญาซึ่งจะมาถึงนั้น” หลายครั้งคนมักจะเข้าใจผิด คิดว่าผู้ที่ต้องกลับใจก็คือคนที่ถูกจับได้ในขณะที่เขาทำผิดทำบาปอยู่ หรือพวกที่ทำผิดกฎหมายขณะที่ถูกจับได้ หรือคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หรือคนที่ยังไม่เชื่อในพระเยซูคริสต์ ในพระวจนะของพระเจ้าตอนนี้ได้กล่าวถึงคนทุกประเภท
๑. ทุกคนต้องกลับใจ ในพระธรรมมัทธิว ๓:๕ “ขณะนั้นชาวกรุงเยรูซาเล็มและคนทั่วแคว้นยูเดีย และคนทั่วลุ่มแม่น้ำจอร์แดนก็ออกไปหายอห์น สารภาพความผิดบาปของตน และได้รับบัพติสมาจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน” ในกลุ่มคนเหล่านี้จะมีคนยิวที่เชื่อพระเจ้าแล้วและรักษาธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด คงมีคนต่างชาติบ้างที่นับถือศาสนายิวและที่ยังไม่เชื่อในพระเจ้า สรุปแล้วก็คือคนยิวและคนต่างชาติ เขามาสารภาพความบาปผิดของตน และยอห์นก็ให้เขารับบัพติสมาในน้ำ (เป็นพิธีที่จุ่มตัวลงไปในน้ำให้มิด) ซึ่งแสดงถึงการกลับใจใหม่
๒. ฟาริสี สะดูสี ข้อ๗ “ครั้นยอห์นเห็นพวกฟาริสี และพวกสะดูสีพากันมาเป็นอันมากเพื่อจะรับบัพติสมา ท่านจึงกล่าวแก่เขาว่า เจ้าชาติงูร้าย ใครได้เตือนเจ้าให้หนีจากพระอาชญาซึ่งจะมาถึงนั้น” พวกฟาริสีและสะดูสีเป็นนักปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัดและยังเป็นผู้สอนธรรมบัญญัติด้วย ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจก็คือ ผู้คงแก่เรียนในหลักธรรมและเคร่งครัดในการปฏิบัติตามธรรมด้วย พระคัมภีร์กล่าวถึงว่า พวกเขาได้เข้ามาขอรับบัพติสมาโดยไม่ต้องผ่านการสารภาพบาป เพราะการรับบัพติสมาด้วยน้ำแสดงว่ากลับใจใหม่ ฉะนั้นก่อนจะรับบัพติสมา จะต้องสารภาพบาปกลับใจใหม่ คือตัดสินใจแล้วที่จะหันหลังให้กับบาปทั้งสิ้น และจะเดินในทางของพระเยซูและเรียนรู้จักกับพระองค์จากพระคัมภีร์และกระทำตาม ไม่ใช่เพียงรับเชื่อที่ปากแล้วรับบัพติสมา ภายหลังจากนั้นก็กลับไปดำเนินชีวิตแบบเดิมที่เคยเป็นมาก่อนรับเชื่อ ดังนั้นต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่ และพร้อมที่จะเชื่อฟังทำตามพระคำของพระเจ้าที่สอนไว้ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเสมอเหมือนกับเพลงที่ร้องกันบ่อยๆ เมื่อมีพิธีรับบัพติสมาว่า “ ฉันตัดสินใจแล้ว จะตามพระเยซู… ไม่หันกลับเลย ไม่หันกลับเลย, …กางเขนนำหน้าฉัน ทิ้งโลกไว้เบื้องหลัง… ไม่หันกลับเลย ไม่หันกลับเลย ” หากเราตัดสินใจเช่นนี้แล้วจึงจะรับบัพติสมา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องดีพร้อมเสียก่อน คือเป็นท่าทีภายในจิตใจต่างหากที่พร้อมแม้ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน แต่ในกรณีของพวกฟาริสีสะดูสีเขาถือว่าเขาเรียนรู้มามาก เป็นผู้สอนคน และช่วยให้คนอื่นมาหาพระเจ้าได้อย่างมากมาย สามารถชี้ทางคนที่หลงผิด เป็นคนเคร่งรักษาพระบัญญัติ เป็นถึงผู้นำและรับใช้พระเจ้า แต่ยอห์นได้กล่าวกับเขาว่า “เจ้าชาติงูร้าย ใครได้เตือนเจ้าให้หนีจากพระอาชญา ซึ่งจะมาถึงนั้น…” หลายครั้งคนที่เป็นครูสอนศาสนา เป็นผู้เทศน์หรือนักธรรมทั้งหลาย จำเป็นต้องกลับใจมากกว่าคนอื่นเสียอีก เพราะเขารู้มากกว่าคนอื่นจึงมีพระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ในพระธรรมยากอบ ๓:๑ “ดูก่อนพี่น้องของข้าพเจ้า อย่าให้เป็นอาจารย์กันมากหลายคนเลย เพราะท่านก็รู้ว่าเราทั้งหลายที่เป็นผู้สอนนั้น จะได้รับการทรงพิพากษาที่เข้มงวดกว่าผู้อื่น” ข้อ ๙ “อย่านึกเหมาเอาในใจว่าตัวมีอับราฮัมเป็นบิดา…” (อับราฮัมเป็นบรรพบุรุษของคนยิวที่มีชื่อเสียงดีในด้านความเชื่อในพระเจ้า) คนเรามักยึดติดกับเกียรติ, ชื่อเสียงเงินทอง, ตำแหน่ง, คุณงามความดี, หรือบุญบารมีของคนอื่น, บรรพบุรุษ, ชาติตระกูล ฯลฯ ในพระเจ้าไม่สามารถอาศัยบุญบารมีกันได้ เรื่องของความดีนั้นไม่มีเผื่อแผ่กันได้ คุณงามความดีทำแทนกันก็ไม่ได้ โอนถ่ายกันก็ไม่ได้เช่นกัน แต่การทำบาปทำชั่วนั้นตรงกันข้ามจะส่งผลอย่างแน่นอน มีผลกระทบกับคนรอบข้าง อาจต่อไปถึงลูกหลานรวมทั้งสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ทุกคนที่ทำบาปจะต้องกลับใจใหม่ ผลงานหรือการรับใช้หรือความดีไม่สามารถชดเชยต่อความผิดความบาปได้ ความดีก็ส่วนความดี ความบาปก็ส่วนความบาป และเมื่อทำบาปก็ต้องกลับใจ ไม่ใช่พยายามทำผลงานและคุณความดีเพื่อชดเชย ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงมีพระคำของพระเจ้าได้กล่าวไว้ว่า “มิใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า พระองค์เจ้าข้า พระองค์เจ้าข้า จะได้เข้าในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาของเรา ผู้ทรงสถิตในสวรรค์จึงจะเข้าได้ เมื่อถึงวันนั้นจะมีคนเป็นอันมากมาร้องแก่เราว่า พระองค์เจ้าข้า พระองค์เจ้าข้า ข้าพระองค์กล่าวพระวจนะในพระนามของพระองค์ และได้ขับผีออกในพระนามของพระองค์ และได้กระทำการอัศจรรย์เป็นอันมากในพระนามของพระองค์ มิใช่หรือ เมื่อนั้นเราจะได้กล่าวแก่เขาว่า เราไม่เคยรู้จักเจ้าเลยเจ้าผู้กระทำความชั่ว จงไปเสียให้พ้นหน้าเรา” อยู่ในพระธรรมมัทธิว ๗:๒๑–๒๓ ไม่ว่าเราจะเป็นใครเมื่อทำบาปก็ต้องกลับใจจากบาปนั้นทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่สอนคนอื่น ต้องกระทำด้วย ไม่ใช่สักแต่สอน และไม่คำนึงถึงตนว่าดำเนินชีวิตสวนทางกับคำสอนหรือไม่ ดังเช่นพวกฟาริสีที่ดีแต่ภายนอกซึ่งเป็นการเสแสร้งแกล้งทำ มัทธิว ๒๓.๒๕ – ๒๘ “ วิบัติแก่เจ้า พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี คนหน้าซื่อใจคด ด้วยเจ้าขัดชำระถ้วยชามแต่ภายนอก ส่วนภายในถ้วยชามนั้นเต็มด้วยโจรกรรมและการมัวเมากิเลส 26โอ พวกฟาริสีตาบอด จงชำระถ้วยชามภายในเสียก่อน เพื่อข้างนอกจะได้สะอาดด้วย 27“วิบัติแก่เจ้า พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี คนหน้าซื่อใจคด เพราะว่าเจ้าเป็นเหมือนอุโมงค์ฝังศพซึ่งฉาบด้วยปูนขาว ข้างนอกดูงดงาม แต่ข้างในเต็มไปด้วยกระดูกคนตาย และสารพัดโสโครก 28เจ้าทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้นแหละ ภายนอกแลดูเหมือนว่าเป็นคนชอบธรรม แต่ภายในเต็มไปด้วยความเท็จเทียมและอธรรม ” จำเป็นต้องกลับใจใหม่ เพราะพระเจ้าจะทรงเข้มงวดกับผู้สอนมากกว่าคนอื่น ยากอบ ๓.๑ “ ดูก่อนพี่น้องของข้าพเจ้า อย่าให้เป็นอาจารย์กันมากหลายคนเลย เพราะท่านก็รู้ว่า เราทั้งหลายที่เป็นผู้สอนนั้น จะได้รับการทรงพิพากษาที่เข้มงวดกว่าผู้อื่น”
๓. เป็นคริสเตียนแล้วก็ต้องกลับใจ การที่คนหนึ่งคนใดมาเชื่อในพระเยซูคริสต์แล้ว ภายหลังจากนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ทำบาปอีกเลย เราทุกคนมีโอกาสพลาดพลั้งเสมอหรือพ่ายแพ้ต่อการทดลองที่มาถึงในชีวิตประจำวัน อีกอย่างนิสัยที่เคยทำบาปยังไม่ได้หลุดไปจากชีวิตของเราหมดสิ้น ในพระธรรมโคโลสี ๓:๕-๙ “เหตุฉะนั้นจงประหารโลกียวิสัยในตัวท่านเสีย มีการล่วงประเวณี การโสโครก ราคะตัณหา ความปรารถนาชั่วและความโลภซึ่งเป็นการนับถือรูปเคารพ เพราะสิ่งเหล่านี้พระอาชญาของพระเจ้าก็จะลงมา ครั้งหนึ่งท่านเคยประพฤติในสิ่งเหล่านี้ ด้วยครั้งเมื่อท่านยังดำรงชีวิตอยู่กับสิ่งเหล่านี้ แต่บัดนี้สารพัดสิ่งเหล่านี้ท่านจงเปลื้องทิ้งเสีย คือความโกรธ ความขัดเคือง การคิดปองร้าย การพูดให้ร้าย คำพูดหยาบโลน อย่าพูดมุสาต่อกัน เพราะท่านได้ปลดวิสัยมนุษย์เก่ากับการปฏิบัติของมนุษย์นั้นเสียแล้ว” อาจารย์เปาโลได้กล่าวกับคริสเตียนชาวเมืองโคโลสีว่า ต้องประหารหรือเปลื้องทิ้งซึ่งวิสัยบาปออกจากชีวิต หากใครที่ไม่มีบาปเหมือนชาวเมืองโคโลสีก็คงไม่ต้องกลับใจ แต่หากยังมีความผิดพลาดและยังทำบาปผิดอยู่ก็ต้องกลับใจ หันหลังให้กับสิ่งเหล่านั้นไม่กลับไปหามันอีก ไม่ใช่ยังทำอยู่ซ้ำซากควรปลดทิ้งและทำสิ่งดีที่ถูกต้องแทน ชีวิตคริสเตียนหลายครั้งเริ่มต้นด้วยดี แต่พอดำเนินไปไม่นานมักจะหวนกลับไปทางเดิม เราต้องพิจารณาชีวิตของตนอยู่เสมอว่า แต่ก่อนเป็นอย่างไรและเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีคริสเตียนเป็นจำนวนมากที่เล่าแต่ประสบการณ์เรื่องในอดีตว่าเมื่อก่อนเคยร้อนรน เคยเข้มแข็ง, รักพระเจ้า, เคยรับใช้, เคยมีประสบการณ์ในความช่วยเหลือของพระเจ้า คือ เคยมี เคยเป็น เคยทำ เคยรับ ปัจจุบันไม่มีแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งต้องกลับใจเสียใหม่ หากชีวิตแย่กว่าเดิมไม่ได้ดีขึ้น กำลังเป็นเหมือนคริสเตียนชาวเมืองเลาดีเซีย ในพระธรรมวิวรณ์ ๓:๑๕–๑๙ “เรารู้จักแนวการกระทำของเจ้า เจ้าไม่เย็นไม่ร้อน เราใคร่ให้เจ้าเย็นหรือร้อน เพราะเหตุที่เจ้าเป็นแต่อุ่นๆ ไม่เย็นและไม่ร้อน เราจะคายเจ้าออกจากปากของเรา เพราะเจ้าพูดว่าเราเป็นคนมั่งมีได้ทรัพย์สมบัติมาก และเราไม่ต้องการสิ่งใดเลย เจ้าไม่รู้ว่าเจ้าเป็นคนแร้นแค้นเข็ญใจ เป็นคนขัดสน เป็นคนตาบอด และเปลือยกายอยู่ เราเตือนสติเจ้าให้ซื้อทองคำที่หลอมให้บริสุทธิ์แล้วจากเรา เพื่อเจ้าจะได้เป็นคนมั่งมีและให้เจ้าซื้อเสื้อผ้าสีขาว เพื่อนุ่งห่มให้พ้นจากความอับอายที่เจ้าต้องเปลือยกายอยู่ และซื้อยาทาตาของเจ้าเพื่อเจ้าจะได้แลเห็น เรารักผู้ใดเราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น เหตุฉะนั้นจงมีความกระตือรือร้นและกลับใจเสียใหม่”คริสเตียนมีโอกาสพ่ายแพ้การทดลองในชีวิตประจำวันหรือผิดพลาดเสมอ หรือถ้าไม่ระวังรักษาชีวิตให้บริสุทธิ์และใกล้ชิดกับพระเจ้า ก็มีโอกาสที่จะเดินถอยหลังในชีวิตคริสเตียน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะอยู่ในการหลอกลวงคิดว่าตนยังเข้มแข็งในพระเจ้า ยังรักพระเจ้าสุดจิตสุดใจอยู่ แต่อันที่จริงแล้วใจและการประพฤตินั้นได้ห่างไกลจากพระเจ้าไปแล้ว เขาจะต้องกลับใจเสียใหม่ ไม่เช่นนั้นพระเจ้าจะเสด็จมาหา ดังนั้นทุกคนล้วนต้องกลับใจเสมอเมื่อสำนึกถึงความผิดที่ตนกระทำ สารภาพและหันหลังให้กับบาปนั้น
ค. ประการที่สาม จงพิสูจน์การกลับใจ
เมื่อเรากลับใจใหม่แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิสูจน์ถึงผลของการกลับใจใหม่ออกมา ในพระธรรมมัทธิว ๓:๘-๙ “เหตุฉะนั้นจงพิสูจน์การกลับใจของเจ้าด้วยผลที่เกิดขึ้น อย่านึกเหมาเอาในใจว่าตัวมีอับราฮัมเป็นบิดา เพราะเราบอกเจ้าทั้งหลายว่าพระเจ้าทรงฤทธิ์อาจจะให้บุตรเกิดขึ้นแก่อับราฮัมจากก้อนหินเหล่านี้ได้” สุภาษิตไทยได้กล่าวไว้ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” หากจะเปลี่ยนสุภาษิตนี้สักเล็กน้อยเป็น “ระยะทางพิสูจน์ม้า วันเวลาพิสูจน์ชีวิตคริสเตียน”
ดังที่ได้เห็นเป็นตัวอย่างมากมายในพระคัมภีร์และทั้งในชีวิตจริงปัจจุบันว่า มีคนเป็นอันมากที่เริ่มต้นชีวิตด้วยดีกับพระเจ้า แต่ตอนปลายทางของชีวิตมักจะจบลงไม่ค่อยจะดีนัก นั่นก็คือต้นดีแต่ปลายร้าย เหมือนกับชีวิตคริสเตียนชาวกาลาเทีย ซึ่งปรากฎในพระธรรมกาลาเทีย ๓:๓ “ท่านเขลาถึงเพียงนั้นทีเดียวหรือเมื่อท่านเริ่มต้นมาด้วยพระวิญญาณ แล้วบัดนี้ท่านจะจบลงด้วยเนื้อหนังหรือ” และในตัวอย่างคำเตือนของท่านยอห์นในพระธรรม ๒ยอห์น ๘ “ท่านทั้งหลายจงระวังตัวให้ดี เพื่อท่านจะได้ไม่สูญเสียสิ่งที่ท่านได้กระทำมาแล้ว แต่อาจจะได้รับบำเหน็จเต็มที่” คือเริ่มต้นไปด้วยดีก็ต้องดำเนินชีวิตด้วยดีให้ตลอด และจบลงด้วยชีวิตที่ดีตลอดไปเช่นเดียวกัน เคยเป็นคนต้นก็ต้องป็นคนต้นไปให้ตลอดลอดฝั่ง จะไม่กลับไปเป็นคนปลาย คือมีชีวิตที่เสมอต้นเสมอปลายกับพระเจ้า ดังนั้นเราจะพิสูจน์การกลับใจได้อย่างไร?
๑. พิสูจน์ด้วยการไม่กลับไปทำบาปเดิมอีก พฤติกรรมหรือการกระทำที่แสดงออกในชีวิตประจำวันนั้น จะเป็นผลพิสูจน์ถึงการกลับใจ “เรารู้จักต้นไม้ด้วยผลของมันฉันใด เราจะรู้จักชีวิตคริสเตียนด้วยการประพฤติฉันนั้น” การกลับใจจะต้องสำแดงออกด้วยการดำเนินชีวิตทุกวัน คือไม่กลับไปทำบาปที่เคยทำมาแบบเดิมอีก การกลับใจไม่ได้พิสูจน์เพียงแค่ เสียใจร้องไห้และสารภาพบาปหรือยอมรับผิด และขอโทษคนที่เราได้กระทำผิดกับเขาเท่านั้น แต่มากไปกว่านั้นก็คือพระเยซูทรงตรัสกับหญิงที่ถูกจับได้ขณะล่วงประเวณี ในพระธรรมยอห์น ๘:๑๑ ว่า “เราไม่เอาโทษเจ้าเหมือนกัน จงไปเถิดและอย่าทำผิดอีก” ดังนั้นนางก็คงไม่กลับไปใช้ชีวิตในการล่วงประเวณีเหมือนเดิมอีกต่อไป คือคงจะเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ส่วนซักเคียสก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขายอมที่จะจ่ายเงินคืนให้กับคนที่เขาโกงมา และชดเชยชีวิตที่เห็นแก่ตัวโดยการแจกจ่ายให้กับคนยากจนแล้ว เขาก็คงไม่กลับไปเก็บภาษีเกินพิกัดหรือเป็นคนที่ขี้โกงอีก หรือบางทีเขาอาจจะเปลี่ยนอาชีพไปเลยก็เป็นได้ หากเขาประกอบอาชีพเดิมแล้วจะทำให้เขาถูกทดลองที่จะกลับไปกระทำบาปโดยการโกงคนอื่นอีก
๒. พิสูจน์ด้วยการดำเนินชีวิตที่แสดงออก จงพิสูจน์การกลับใจด้วยการกระทำที่สำแดงออกมา ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกใครๆ ว่าเราเป็นคริสเตียนและมีชีวิตใหม่แล้ว คนส่วนมากมักจะโฆษณาตัวเองเสมอว่า เขาเป็นคนเช่นไร และไม่เป็นคนเช่นไร คือให้เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคริสเตียน จนเขาเห็นชัดเจนและจะมาถามเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของคุณ คุณเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้อย่างไร แต่ก่อนคุณไม่เป็นเช่นนี้ แต่หากเราเองประกาศตัวกับคนอื่นๆ ว่าเป็นคริสเตียนแล้ว แต่ชีวิตไม่สำแดงโดยการเปลี่ยนแปลง ยังเหมือนเดิมเคยประพฤติเช่นไรก็ยังทำเช่นนั้น นิสัยที่ไม่ดีเป็นอย่างไรก็ยังเป็นเช่นนั้น ตรงกันข้ามแทนที่เขาจะมาถาม แต่จะเกิดคำถามขึ้นกับตัวเขาเองว่า “นี่หรือคือคริสเตียน ทำไมเขาประพฤติกันเช่นนี้ ” อย่าประกาศตัวด้วยปากเท่านั้นแต่จงพิสูจน์ด้วยการกระทำ เพราะการกระทำนั้นย่อมดังกว่าคำพูด ในพระธรรม ๒โครินธ์ ๓:๓ กล่าวว่า “ท่านปรากฏเป็นตัวหนังสือของพระคริสต์ ซึ่งเราได้เขียนไว้มิใช่ด้วยน้ำหมึก แต่ด้วยพระวิญญาณของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ และมิได้เขียนไว้ที่แผ่นศิลา แต่เขียนไว้ที่แผ่นดวงใจมนุษย์” และในพระธรรมมัทธิว ๕:๑๖“ท่านทั้งหลายก็เหมือนกับตะเกียง จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวงเพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้ทรงอยู่ในสวรรค์” สิ่งที่แสดงออกถึงการเป็นคริสเตียนก็คือ การประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีในทุกๆ ที่ที่อยู่ ทุกๆ ที่ที่ไป ในพระธรรม ๑โครินธ์ ๔:๒๐ “เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้ามิใช่เรื่องของคำพูด แต่เป็นเรื่องฤทธิ์เดช” เป็นฤทธิ์เดชที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ และนี่แหละคือการอัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิต คริสเตียน
ง. ประการที่สี่ ผลของการไม่กลับใจ
๑. ถ้าไม่กลับใจ ก็ไม่มีการยกโทษ การยกโทษจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นสำนึกผิดและสารภาพ ในพระธรรม ๑ยอห์น ๑:๙-๑๐ “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น ถ้าเรากล่าวว่าเราไม่ได้ทำบาป ก็เท่ากับเราทำให้พระองค์เป็นผู้ตรัสมุสา และพระดำรัสของพระองค์ก็มิได้อยู่ในเราทั้งหลายเลย” และในพระธรรมมาระโก ๑:๔ “ท่านได้ประกาศให้กลับใจเสียใหม่ และรับบัพติสมา เพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปเสีย” เมื่อเราสารภาพและกลับใจจากบาป พระเจ้าจะทรงโปรดยกความผิดบาปอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่กลับใจโดยละทิ้งหันหลังให้กับสิ่งที่ทำผิดอยู่การยกโทษก็ไม่มี และถ้าการยกโทษไม่มีบาปก็ยังอยู่ และถ้าบาปยังอยู่ก็จะเป็นการสะสมบาปไว้จนถึงวันที่องค์พระเยซูคริสต์เจ้าเสด็จกลับมาครั้งที่สองเพื่อพิพากษาโทษ และเขาก็จะต้องเข้าสู่การพิพากษาด้วยเพราะบาปยังอยู่ ยังไม่ได้รับการอภัยโทษ
๒. ถ้าไม่กลับใจ จะต้องพินาศ ไม่เพียงไม่ได้รับการอภัยโทษเท่านั้น การไม่กลับใจยังส่งผลอะไรอีก ในพระธรรมลูกา ๑๓:๕ “เราบอกท่านทั้งหลายว่า มิใช่ แต่ถ้าท่านทั้งหลายมิได้กลับใจใหม่ จะต้องพินาศเหมือนกัน” ความพินาศในที่นี้เป็นผลมาจากการกระทำบาป และความพินาศก็คือความตาย ในพระธรรมโรม ๖:๒๓ “เพราะว่าค่าจ้างของความบาปคือความตาย” ความตายครั้งแรก คือฝ่ายร่างกายในโลกนี้ ซึ่งโดยปกติทุกคนจะต้องผ่านอยู่แล้ว ความตายเป็นผลของการกระทำบาปของมนุษย์คู่แรก แต่ความตายในพระธรรมโรมหมายถึงความตายฝ่ายวิญญาณในโลกหน้าคือความพินาศนิรันดร์ในบึงไฟนรก เป็นความตายครั้งที่สอง ในพระธรรมวิวรณ์ ๒๑:๘ กล่าวว่า “แต่คนขลาด คนไม่เชื่อ คนที่น่าเกลียดน่าชัง คนที่ฆ่ามนุษย์ คนล่วงประเวณี คนใช้เวทมนตร์ คนไหว้รูปเคารพ และคนทั้งปวงที่พูดมุสานั้น มรดกของเขาอยู่ที่ในบึงไฟและกำมะถันที่กำลังไหม้อยู่นั้น นั่นคือความตายครั้งที่สอง” คนที่ทำบาปเหล่านี้แล้วไม่กลับใจ การพิพากษาและนรกบึงไฟรอเขาอยู่ ในเวลานั้นพระคุณจะไม่มีแล้ว การยกโทษก็ไม่มีเช่นกัน มีแต่พระพิโรธอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อวันพิพากษาโลกมาถึง คือเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จกลับมายังโลกนี้ครั้งที่สอง อันที่จริงความตายฝ่ายวิญญาณก็เกิดขึ้นอยู่แล้วเมื่อคนๆ หนึ่งทำบาป จิตวิญญาณของเขาเริ่มห่างจากพระเจ้า เมื่อทำบาปมากขึ้นและมากขึ้น ความตายฝ่ายวิญญาณก็คืบคลานเข้ามา และจิตวิญญาณของคนนั้นก็เริ่มสัมผัสถึงไฟนรกบ้างและนั่นก็คือภายในจิตใจของเขาก็เริ่มไม่มีสันติสุข เกิดการขัดแย้งในใจและจิตสำนึกภายในก็ฟ้องผิด จิตใจจึงร้อนรุ่ม เมื่อคนหนึ่งคนใดในครอบครัวทำบาป หรือต่างคนต่างทำตามอำเภอใจของตน ไม่มีความรักมีแต่ความเห็นแก่ตัว ไม่ได้สนใจถึงความถูกความผิด ภายในบ้านหลังนั้นก็ไม่มีความสงบสุข กลับเริ่มร้อน สมาชิกในบ้านก็ไม่มีใครอยากจะอยู่ รวมถึงครอบครัวใหญ่คือคริสตจักรก็เช่นเดียวกัน หากมีคนทำบาปไม่เชื่อฟังที่จะทำตามพระวจนะของพระเจ้ามากขึ้น ต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่มีความรักความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า ชิงดีชิงเด่นกันแม้แต่ตำแหน่งหน้าที่ในการรับใช้ นินทาว่าร้าย ใส่ความกัน คริสตจักรนั้นก็เริ่มร้อน ไม่มีความสงบสุข คนที่อยู่ก็อยากออก คนข้างนอกก็ไม่อยากเข้ามาในคริสตจักร
เมื่อมนุษย์คู่แรกทำบาปโดยการไม่เชื่อฟัง ความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้าก็ขาดสะบั้นลงนั่นคือความตายฝ่ายวิญญาณ คือจิตวิญญาณขาดจากความสัมพันธ์กับพระเจ้าและขาดการติดต่อกับพระเจ้า โดยการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ที่บนไม้กางเขน เมื่อเราต้อนรับพระเยซูคริสต์เข้ามาในใจ พระองค์ได้ทรงนำเราเข้าสู่การคืนดีกับพระเจ้าอีกครั้ง เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าเป็นบุตรของพระองค์และสามารถอธิษฐานติดต่อกับพระเจ้าได้ตลอดเวลา แต่ถ้าหากทำบาปแล้วไม่กลับใจใหม่ก็ทำให้ชีวิตเริ่มห่างจากพระเจ้าเพราะบาปที่มาขวางกั้นระหว่างเรากับพระเจ้า ในพระธรรมอิสยาห์ ๕๙:๒-๓ “แต่ว่าความบาปชั่วของเจ้าทั้งหลายได้กระทำให้เกิดการแยก ระหว่างเจ้ากับพระเจ้าของเจ้า และบาปของเจ้าทั้งหลายได้บังพระพักตร์ของพระองค์เสียจากเจ้าพระองค์จึงมิได้ยิน เพราะมือของเจ้ามลทินด้วยโลหิต และนิ้วมือของเจ้าด้วยความบาปชั่ว ริมฝีปากของเจ้าได้พูดคำเท็จ ลิ้นของเจ้าพึมพำความอธรรม” เพราะการทำบาปเป็นการจุดไฟนรกมาเผาผลาญ ฝ่ายจิตวิญญาณร้อนรุ่มและภายในจิตใจไม่มีสันติสุข สภาพวิญญาณจิตก็เหี่ยวแห้งไป เมื่อทำบาปมากขึ้นก็ถูกเผามากขึ้นจนในที่สุดทำให้ชีวิตฝ่ายวิญญาณไม่มีชีวิตชีวา กิจกรรมที่เคยทำในความสัมพันธ์กับพระเจ้าก็เริ่มขาดหายไป เช่น การอธิษฐาน, อ่านพระคัมภีร์, นมัสการในชีวิตประจำวัน จนในที่สุดฝ่ายจิตวิญญาณก็ขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้าโดยปริยาย คือได้ตายฝ่ายวิญญาณไปแล้ว และสภาพการตายฝ่ายวิญญาณก็ไม่ต่างจากฝ่ายร่างกายเท่าไร ถ้าจะเปรียบก็คือคนที่ตายฝ่ายร่างกายนั้นจะไม่มีความรู้สึก ไม่มีการตอบสนองใดๆ ไม่หิว เช่นเดียวกันกับคนที่ตายฝ่ายวิญญาณก็จะสังเกตได้ไม่ยากนัก คือเขาจะเริ่มไม่รู้สึกตอบสนองอะไรเกี่ยวกับฝ่ายวิญญาณ ท่ามกลางคนของพระเจ้า เช่น หลายคนอาจจะรู้สึกสัมผัสกับพระเจ้า รับพระพรในการอธิษฐาน การนมัสการ การฟังคำสอน การอ่านพระคัมภีร์และในการทรงช่วยเหลือ ในการทรงนำในชีวิตประจำวัน การเฝ้าเดี่ยว แต่คนเหล่านี้ที่ตายทางฝ่ายวิญญาณไม่รู้สึกอะไร ปฏิบัติแล้วก็รู้สึกเฉยๆ กลับเป็นภาระไป และก็จะไม่มีการตอบสนองใดๆ จากคนเหล่านี้ ในการฟังคำเทศนา การเรียน การอ่านพระวจนะของพระเจ้า และก็ไม่มีความรู้สึกหิวกระหายพระวจนะ หรือกระหายที่จะอธิษฐานกับพระเจ้าอีกเพื่อจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์ ทั้งหมดนี้คืออาการของคนที่กำลังตายฝ่ายวิญญาณ หลังจากนั้นก็ไม่รู้สึกผิดในการทำบาปแบบเดิมๆ ที่เคยทำอีก เริ่มชิน เมื่อก้าวมาถึงขนาดนี้แล้วก็อย่าได้หลงผิดคิดไปว่าไม่เป็นอะไรแล้ว พระเจ้าคงเข้าใจและยังคิดเกินเลยไปกว่านั้นว่าพระเจ้าทรงอนุญาตให้ทำบาป เพราะเขาจะไม่รู้สึกขัดแย้งในใจ กลับรู้สึกพอใจในการการกระทำบาป ซึ่งหารู้ไม่ว่าจิตวิญญาณได้ตายไปแล้วจึงไม่รู้สึกอะไร จิตสำนึกผิดชอบก็ไม่ทำงานแล้วจึงกลายเป็นคริสเตียนที่นับถือศาสนาไป และถ้าคริสตจักรมีแต่สมาชิกที่เป็นคริสเตียนแบบนี้ คริสตจักรก็กลายเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาไม่มีชีวิตฝ่ายวิญญาณ แล้วจึงกลายเป็นเหมือนสมาคมไป เต็มไปด้วยผลประโยชน์ อย่าปล่อยให้เวลาการมาเป็นคริสเตียนของท่านนั้นเปล่าประโยชน์เลย หากเรียนรู้ว่าอะไรผิดแล้วและยังคงดำเนินตามนั้นต่อไปโดยไม่กลับใจหันหลังให้กับสิ่งเหล่านั้น หรือละทิ้งและมาเดินในทางที่ถูกต้องตามทางของพระเจ้าตามพระคัมภีร์ที่สอนไว้ ชีวิตก็ได้กลายเป็นคนที่ดูเหมือนมีชีวิตอยู่ แต่ได้ตายแล้วในฝ่ายวิญญาณ และรอวันพิพากษาเท่านั้น
จ. ประการที่ห้า มีชีวิตที่เกิดผล
พระเจ้าทรงประสงค์ให้คริสเตียนเกิดผลดี ในพระธรรมมัทธิว ๓:๑๐ กล่าวว่า“บัดนี้ขวานวางที่โคนต้นไม้แล้ว และทุกต้นที่ไม่เกิดผลดีจะต้องตัดแล้วโยนทิ้งในกองไฟ” นั่นหมายความว่าพระเจ้าทรงคาดหวังว่าผู้เชื่อทุกคนจะต้องเกิดผล คือมีผลดีในชีวิตไม่ใช่ผลเลว ในพระธรรมยอห์น ๑๕:๕ “เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นแขนง ผู้ที่เข้าสนิทอยู่ในเราและเราเข้าสนิทอยู่ในเขา ผู้นั้นก็จะเกิดผลมาก…” พระคัมภีร์ตอนนี้ได้เปรียบเทียบพระเยซูทรงเป็นเหมือนเถาองุ่นและผู้เชื่อทุกคนเป็นแขนง เถาให้อาหาร แขนงมีหน้าที่ออกผล และในพระธรรมลูกา ๑๓:๖-๗ กล่าวว่า “พระองค์ตรัสคำอุปมาต่อไปนี้ว่า คนหนึ่งมีต้นมะเดื่อต้นหนึ่งปลูกไว้ในสวนองุ่นของตน และเขามาหาผลที่ต้นนั้นก็ไม่พบ เขาจึงว่าแก่คนที่รักษาเถาองุ่นว่า นี่แนะเรามาหาผลที่ต้นมะเดื่อนี้ได้สามปีแล้ว แต่ไม่พบ จงโค่นมันเสียจะให้ดินจืดไปเปล่าๆ ทำไม” และยังเปรียบต่อไปอีกว่า ผู้เชื่อเป็นเหมือนต้นมะเดื่อของพระเจ้าที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เกิดผล คริสเตียนเป็นพันธุ์ไม้ผลซึ่งต้องออกผลตามฤดูกาล และโดยเฉพาะในพระธรรมยอห์น ๑๕:๑๖ กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายไม่ได้เลือกเราแต่เราได้เลือกท่านทั้งหลาย และได้แต่งตั้งท่านทั้งหลายไว้ให้ท่านไปเกิดผล และเพื่อให้ผลของท่านคงอยู่เพื่อว่าเมื่อท่านทูลขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระองค์จะได้ประทานสิ่งนั้นให้แก่ท่าน” ชีวิตคริสเตียนจึงมีทางเลือกสองทาง คือ เกิดผลดีหรือหรือเกิดผลเลว
๑. แนวทางการเกิดผลดีในชีวิตคริสเตียน ในพระธรรมลูกา ๓:๑๐-๑๔ เมื่อพูดถึงการเกิดผล หลายคนมักจะคิดถึงแต่ผลงานรับใช้และต้องเป็นงานรับใช้ที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น เช่นการประกาศ เทศนา นำคนเป็นร้อย ทำการอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดัง ถวายตัวรับใช้พระเจ้าเต็มเวลา เป็นศิษยาภิบาลหรือก่อตั้งคริสตจักรใหญ่ๆ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากมาย แต่ถ้าพระเจ้าทรงเรียกให้ทำเช่นนั้นก็ควรตอบสนองและก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะถูกเรียกให้เป็นเช่นนั้น อาจจะเป็นคนเล็กน้อยก็ได้ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง มันขึ้นอยู่กับว่าพระเจ้าทรงเรียกคนนั้นให้ทำอะไรและเกิดผลในด้านไหน เพราะชีวิตคริสเตียนจะต้องเกิดผลถึงสามด้านด้วยกัน
ด้านแรก ในพระธรรมลูกา ๓:๑๑- ๑๔ กล่าวถึงด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน คือชีวิตส่วนตัว ในที่นี้ได้บอกไว้ ๓ ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นที่ ๑ “ผู้ใดมีเสื้อสองตัวจงแบ่งปันให้แก่คนไม่มี และใครมีอาหารจงแบ่งปันให้ออกไปเหมือนกัน” เป็นการดำเนินชีวิตด้วยความรักความเมตตา รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่นที่แสดงออกเป็นการกระทำ เหยียดชีวิตออกไปหาคนอื่นเพื่อช่วยเหลือเขา พระเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้ลูกของพระองค์ที่สักแต่จะรับพระพรสำหรับตนเท่านั้น แต่ที่จะให้ผู้เชื่อทุกคนเป็นพระพรด้วย
คนในสังคมไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนจะมีการเห็นแก่ตัวเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง จะทำอะไรให้ใครก็ต้องคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองก่อนเสมอ ถ้าไม่มีผลประโยชน์ก็ไม่ทำและยิ่งไปกว่านั้นคนในยุคสุดท้ายนี้จะเห็นแก่ตัวมากขึ้น ตามคำพยากรณ์ใน ๒ทิโมธี ๓:๑-๒ กล่าวว่า “แต่จงเข้าใจข้อนี้คือว่าในสมัยจะสิ้นยุคนั้น จะเกิดเหตุการณ์กลียุค เพราะมนุษย์จะเห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน เย่อหยิ่งยโส ชอบด่าว่า ไม่เชื่อฟังคำบิดามารดา อกตัญญู ไร้ศีลธรรม...” แต่สำหรับผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ ไม่ควรเป็นไปตามพระวจนะที่ได้กล่าวไว้นี้ ในพระธรรมโรม ๑๒:๑๓ ได้สอนไว้ว่า “จงเห็นอกเห็นใจช่วยธรรมิกชนเมื่อเขาขัดสน จงมีน้ำใจอัธยาศัยไมตรี” คนที่มีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่นจะแสดงออกโดยการให้ คือหยิบยื่นออกไปให้ หรือเสียสละยื่นที่จะออกไปช่วยเหลือ และในพระธรรม ๑โครินธ์ ๑๐:๒๔ “อย่าให้ผู้ใดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น” สำหรับคริสเตียนแล้วไม่ว่าจะทำอะไรจะไม่เอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง แต่จะคิดถึงประโยชน์ของคนอื่น ในพระธรรมกาลาเทีย ๖:๒ “จงช่วยรับภาระของกันและกัน ท่านจึงจะปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระคริสต์” และในพระธรรมฮีบรู ๑๓:๑๖ “จงอย่าละเลยที่จะกระทำการดี และจงแบ่งปันข้าวของซึ่งกันและกัน เพราะเครื่องบูชาอย่างนั้นเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า” ในพระธรรม ๑ยอห์น ๓:๑๗ “แต่ถ้าผู้ใดมีทรัพย์สมบัติในโลกนี้ และเห็นพี่น้องของตนขัดสนแล้วยังใจจืดใจดำไม่สงเคราะห์เขา ความรักของพระเจ้าจะดำรงอยู่ในผู้นั้นอย่างไรได้” การแบ่งปัน การให้ไม่ใช่เพียงสิ่งของเท่านั้น ยังรวมไปถึงเวลา, กำลัง, ความสามารถ, สติปัญญา, ความรู้ ฯลฯ มีบทประพันธ์บทหนึ่งได้บรรยายถึงหญิงสองคนที่เป็นช่างเย็บผ้า คนหนึ่งขาดงานเพราะป่วยอยู่ แต่อีกคนหนึ่งรีบรุดไปเยี่ยมเขาทันที แม้ว่าตัวเธอจะขาดรายได้วันนั้น หรืออาจต้องถูกไล่ออกจากงาน เธอบอกว่า “พระเจ้าทรงมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อนฉันอาจต้องการน้ำดื่ม ขอให้คนอื่นขาดฉันเถิด แต่ขออย่าให้พระเจ้าต้องขาดฉันเลย” หลายคนได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือจากคนอื่น จากพี่น้องคริสเตียนด้วยกัน เขาอาจจะรู้สึกขอบคุณพระเจ้าและซาบซึ้งในน้ำใจของคนเหล่านั้น แต่อย่าหยุดเพียงเท่านี้ พระเจ้าไม่ทรงต้องการให้พอใจเพียงเท่านี้ อย่ามัวแต่ชื่นชมคนอื่นที่มีน้ำใจมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรักที่แสดงออกแต่จงกระทำตามแบบอย่างของเขาเช่นกัน อย่าสักแต่เป็นฝ่ายรับสิ่งดีและความช่วยเหลือจากคนอื่นเท่านั้น แต่จงเรียนรู้ที่จะทำด้วย “ไม่มีใครจนเกินไปที่จะให้ไม่ได้” และก็“ไม่มีใครร่ำรวยเกินไปที่จะไม่รับอะไรจากผู้อื่น” ในพระธรรมกิจการ ๒๐:๓๕ “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ” การทำสิ่งง่ายๆ ธรรมดาๆ ก็เป็นการทำประโยชน์แล้ว การกระทำบริการธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ก็เท่ากับการปรนนิบัติพระเจ้าด้วยเหมือนกัน ใน มัทธิว ๑๐.๔๒ “ และถ้าผู้ใดจะเอาน้ำเย็นสักถ้วยหนึ่ง ให้คนเล็กน้อยเหล่านี้คนใดคนหนึ่งดื่ม เพราะเป็นศิษย์ของเรา เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า คนนั้นจะขาดบำเหน็จก็หามิได้ ” ให้การช่วยเหลือ ให้ความสะดวก ช่วยแบ่งเบาภาระ รู้จักเอื้อเฟื้อ เราได้รับประโยชน์อะไรในชีวิตของเราบ้าง และเราได้ให้ประโยชน์อะไรแก่ใครบ้าง จงสำรวจตัวเองดู
ประเด็นที่ ๒ การดำเนินชีวิตในความสัตย์ซื่อ อย่าให้ความโลภเข้าตาจนต้องทำผิด ในพระธรรมลูกา ๓:๑๒–๑๓ “พวกเก็บภาษีก็มาขอรับบัพติสมาด้วย และถามท่านว่า ‘อาจารย์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าต้องทำประการใด’ ท่านจึงตอบเขาว่า‘เจ้าทั้งหลายอย่าเก็บภาษีเกินพิกัด’ ” ความโลภเป็นความบาป ความเห็นแก่ได้ คอรัปชั่น การเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ไม่สัตย์ซื่อ ขี้โกง แม้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ รวมไปถึงสิ่งใหญ่ด้วย พระวจนะของพระเจ้าเตือนไว้ ในพระธรรม ๑ทิโมธี ๖:๙-๑๐ กล่าวว่า “ส่วนคนเหล่านั้นที่อยากร่ำรวย ก็ตกอยู่ในข่ายของความเย้ายวน และติดบ่วงแร้วและในความปรารถนาชั่วนานา ที่ไร้ความคิดและเป็นภัยแก่ตัวซึ่งทำให้คนเราต้องพินาศเสื่อมสูญไป ด้วยว่าการรักเงินทองนั้น เป็นมูลรากแห่งความชั่วทั้งมวล เพราะความโลภนี่แหละจึงทำให้บางคนห่างไกลจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์” คนของพระเจ้าต้องหลีกหนีจากวิถีแห่งความโลภทั้งสิ้นและดำเนินชีวิตในความสัตย์ซื่อตลอดชีวิตของเขา ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ให้มีความเที่ยงตรงเสมอ ความโลภไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นมีมากหรือมีน้อย แต่เป็นท่าทีภายในที่มีความอยากได้ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามกฎศิลธรรม ความเดือดร้อน ความเสียหายของผู้อื่น เพียงเพื่อตนได้มาซึ่งสิ่งนั้น ไม่ใช่เป็นการเก็บภาษีเกินพิกัดเท่านั้น หากเป็นผู้ที่ต้องเสียภาษีก็ไม่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง โรม.๑๓.๕,๖ “ เหตุฉะนั้นท่านจะต้องอยู่ในบังคับบัญชา มิใช่เพราะเกรงพระอาชญาสิ่งเดียว แต่เพราะจิตที่สำนึกผิดชอบด้วย 6เพราะเหตุผลอันเดียวกันท่านจึงได้เสียส่วยสาอากรด้วย เพราะว่าผู้มีอำนาจนั้นเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า และปฏิบัติหน้าที่นี้อยู่ ”
ประเด็นที่ ๓ ข้อ๑๔ “ฝ่ายพวกทหารถามท่านด้วยว่า ‘พวกข้าพเจ้าเล่า จะต้องทำประการใด’ ท่านตอบเขาว่า ‘อย่ากรรโชก อย่าใส่ความเพื่อเอาเงินแต่จงพอใจในค่าจ้างของตน’ ” การประกอบอาชีพอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงวิธีการได้มาอย่างไม่ถูกต้อง เช่นการได้ทรัพย์สิ่งของเงินทอง ตำแหน่งหน้าที่และชื่อเสียงมาด้วยวิธีที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นการข่มขู่บีบคั้นโดยใช้อำนาจหน้าที่อิทธิพลอย่างผิดๆ หรือใช้การประจบสอพอที่ไม่จริงใจเพื่อหวังผลประโยชน์ หรือใช้วาจาไปในทางที่ผิด อาจเป็นการใส่ร้ายป้ายสี โกหกพกลมเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องของตน เป็นสิ่งที่พระเยซูตรัสกับเขาว่า ‘อย่าทำ’ จงพอใจสิ่งที่ตนมีอยู่ นี่คือสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้คริสเตียนดำเนินชีวิตเป็นประจำทุกวันจนเกิดผลในสังคมที่เขาอยู่ ในการทำงาน การประกอบอาชีพ จงพอใจในสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้ และวิธีการได้มาต้องบริสุทธิ์และถูกต้องตามพระวจนะของพระเจ้าที่สอนไว้ ไม่ใช้วิธีการแบบโลกที่เขาทำกันเพราะคำพูดที่มักใช้กันเสมอๆ ก็คือ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” หากเราทำเช่นเขา เราก็จะจบลงเหมือนเขา แต่คนของพระเจ้าจะไม่ทำเช่นเขาทำกัน เพราะเราเป็นเกลือมีหน้าที่ที่จะเข้าไปแทรกแซงในสังคม นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีไปสู่สังคมที่เน่าเฟะในปัจจุบันนี้ให้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปเพิ่มให้มันแย่ลง และยังเป็นแสงสว่างคือเป็นต้นแบบหรือเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม ในพระธรรมมัทธิว ๕:๑๖ “ท่านทั้งหลายก็เป็นเหมือนกับตะเกียง จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่าน ผู้ทรงอยู่ในสววรค์”
ด้านที่สอง เกิดผลในการประกาศพระกิตติคุณ นำวิญญาณมาถึงความรอดตามคำสั่งของพระเยซู ในพระธรรม มัทธิว ๒๘:๑๙-๒๐ “เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติสมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไปจนกว่าจะสิ้นยุค” ในพระธรรมตอนนี้เป็นคำสั่งสำหรับคริสเตียนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีของประทานในการประกาศเท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่มีข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวได้ว่า ไม่มีของประทานจึงไม่ประกาศ เพราะเป็นหน้าที่ที่คริสเตียนทุกคนต้องรับผิดชอบต่อดวงวิญญาณของคนที่ยังไม่เชื่อทุกคนที่อยู่ล้อมรอบชีวิตของเขา เราคงไม่ต้องไปคิดถึงสิ่งใหญ่หรืองานที่ยิ่งใหญ่ยุ่งยากซับซ้อน สิ่งที่จะทำก็เพียงแต่ทำในสิ่งง่ายๆ ในชีวิตประจำวันเท่านั้น เช่น การแจกใบปลิว การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน สนใจทุกข์ สุขของคนรอบข้างเพื่อมีโอกาสสำแดงความรักของพระเจ้าต่อเขา อธิษฐานเผื่อหรือชวนคนไปโบสถ์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
มีคริสเตียนคนหนึ่งชื่อริกบี้ เขาเป็นนักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปเมืองหนึ่งเป็นประจำ เขาพูดไม่เก่งโดยเฉพาะการเป็นพยาน แต่เขาจะไปโบสถ์แห่งนั้นประจำ เมื่อไปพักอยู่ที่นั่น คริสตจักรที่เขาไปนมัสการ ศิษยาภิบาลชื่อ อาจารย์ อเล็กซานเดอร์ ไวท์ และสิ่งที่เขาทำเสมอก็คือทุกครั้งที่ไปโบสถ์ เขาจะชวนคนอื่นไปด้วย และเช้าวันนั้นก็เช่นกัน เขาชวนชายคนหนึ่งไปด้วย แรกๆ ชายคนนั้นก็ไม่ยอม แต่เมื่อริกบี้คะยั้นคะยอมากขึ้น เขาก็ยอมไป ชายคนนั้นรู้สึกประทับใจในคำเทศนาจึงขอให้เขาพาไปในคืนนั้นอีก และชายคนนั้นก็ได้รับเชื่อคืนนั้น เช้าวันรุ่งขึ้น ริกบี้ต้องไปทำธุระแถวบ้านศิษยาภิบาล ซึ่งเขาไม่เคยพบเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่เกิดแรงบันดาลใจที่อยากเข้าไปพบและเมื่อเขาพบ เขาก็บอกอาจารย์ว่า “มีคนรับเชื่อในคำเทศนาในวันอาทิตย์นั้นด้วย” ศิษยาภิบาลตอบเขาว่า “ขอบคุณมากที่มาบอก เพราะผมรู้สึกท้อใจมากว่า คำเทศนาคืนนั้นมันจืดชืดมาก” ศิษยาภิบาลก็ถามชื่อเขา พอทราบเท่านั้น ศิษยาภิบาลก็อุทานออกมาว่า “ริกบี้” ผมพยายามหาคุณมาหลายปีแล้ว เขาหยิบจดหมายออกมามัดหนึ่งมี ๑๒ ฉบับ และได้เปิดฉบับหนึ่งออกมาแล้วอ่านให้เขาฟังว่า “ผมไปพักในเมืองนี้สุดสัปดาห์ มีพ่อค้าคนหนึ่งชื่อริกบี้ได้เชิญผมไปโบสถ์คุณ การประชุมในวันนั้นเปลี่ยนชีวิตของผม” ศิษยาภิบาลกล่าวกับริกบี้ว่า “จดหมาย ๑๒ ฉบับนั้นมาจากคนหนุ่ม และในสี่นั้นเขาได้ถวายตัวเป็นผู้รับใช้พระเจ้าแล้ว” เห็นไหมว่าเขาไม่ได้ทำในสิ่งที่ยากและซับซ้อนอะไรเลย เพียงแต่เมื่อจะไปโบสถ์ทุกครั้งก็ชวนคนไปด้วยเสมอ ดังนั้นเราก็สามารถทำได้เหมือนเขา คือทำหน้าที่ของเราง่ายๆ เหมือนเช่นริกบี้คนนี้ หรืออธิษฐานเผื่อคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุนหรือลงแรงมากเลย การที่เขาจะมาเชื่อหรือไม่นั้นไม่ใช่ความสามารถของเรา แต่เป็นหน้าที่ของพระเจ้าที่จะทำงานในใจของเขา ขอเพียงเรามีความรักและทำหน้าที่ด้วยหัวใจที่สัตย์ซื่ออย่างสม่ำเสมอในชีวิตคริสเตียนก็เป็นการเพียงพอแล้ว
ด้านที่สาม การเกิดผลตามความสามารถและของประทาน คนทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ล้วนแล้วก็มีความสามารถด้วยกันทั้งสิ้น และโดยเฉพาะคนที่มาเชื่อในพระเยซูคริสต์เป็นบุตรของพระเจ้าแล้ว พระองค์ยังได้ประทานของประทานฝ่ายวิญญาณให้กับเขาในการรับใช้เพิ่มอีก เป็นการรับใช้พระเจ้าเพื่อเสริมสร้างคริสตจักรของพระองค์ให้เจริญขึ้น ผู้เชื่อทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อของประทานทุกคน เช่นตัวอย่างของเรื่องเงินตะลันต์ที่พระเยซูได้ยกตัวอย่างมา ในพระธรรมมัทธิว ๒๕:๑๔-๓๐ “และยังเปรียบเหมือนชายผู้หนึ่งจะออกเดินทางไป จึงเรียกพวกทาสของตนมาฝากทรัพย์สมบัติไว้ คนหนึ่งท่านให้ห้าตะลันต์ คนหนึ่งสองตะลันต์ และอีกคนหนึ่งตะลันต์เดียว ตามความสามารถของแต่ละคน แล้วท่านก็ไป คนที่ได้รับห้าตะลันต์นั้นก็เอาเงินนั้นไปค้าขายทันทีได้กำไรเท่าตัวคนที่ได้รับสองตะลันต์นั้นก็ได้กำไรเท่าตัวเหมือนกัน แต่คนที่ได้รับตะลันต์เดียวได้ขุดหลุมซ่อนเงินของนายไว้
ครั้นอยู่มาช้านานนายจึงมาคิดบัญชีกับทาสเหล่านั้น คนที่ได้รับห้าตะลันต์ก็เอาเงินกำไรอีกห้าตะลันต์มาชี้แจงว่า ‘นายเจ้าข้า ท่านได้มอบเงินห้าตะลันต์ไว้กับข้าพเจ้า ดูเถิด ข้าพเจ้าได้กำไรมาอีกห้าตะลันต์’ นายจึงตอบว่า ‘ดีแล้ว เจ้าเป็นทาสดีและสัตย์ซื่อ เจ้าสัตย์ซื่อในของเล็กน้อย เราจะตั้งเจ้าให้ดูแลของมาก เจ้าจงปรีดีร่วมสุขกับนายของเจ้าเถิด‘ คนที่ได้รับสองตะลันต์มาชี้แจงด้วยว่า ‘นายเจ้าข้า ท่านได้มอบเงินสองตะลันต์ไว้กับข้าพเจ้า ดูเถิด ข้าพเจ้าได้กำไรมาอีกสองตะลันต์‘ นายจึงตอบว่า ‘ดีแล้ว เจ้าเป็นทาสดีและสัตย์ซื่อ เจ้าสัตย์ซื่อในของเล็กน้อย เราจะตั้งเจ้าให้ดูแลของมาก เจ้าจงปรีดีร่วมสุขกับนายของเจ้าเถิด‘ ฝ่ายคนที่ได้รับตะลันต์เดียวมาชี้แจงด้วยว่า ‘นายเจ้าข้า ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่าท่านเป็นคนใจแข็ง เกี่ยวผลที่ท่านมิได้หว่าน เก็บส่ำสมที่ท่านมิได้โปรย ข้าพเจ้ากลัวจึงเอาเงินตะลันต์ของท่านไปซ่อนไว้ใต้ดิน ดูเถิด นี่แหละเงินของท่าน‘ นายจึงตอบว่า ‘อ้ายข้าชั่วช้าและเกียจคร้าน เจ้าก็รู้หรือว่าเราเกี่ยวที่เรามิได้หว่าน เก็บส่ำสมที่เรามิได้โปรย เหตุฉะนั้นเจ้าควรเอาเงินของเราไปฝากไว้ที่ธนาคาร เมื่อเรามาจะได้รับเงินของเราทั้งดอกเบี้ยด้วย เพราะฉะนั้นจงเอาเงินตะลันต์เดียวนั้นจากเขาไปให้คนที่มีสิบตะลันต์ ด้วยว่าผู้ใดมีอยู่แล้วจะเพิ่มเติมให้ผู้นั้นจนมีเหลือเฟือ แต่ผู้ที่ไม่มีแม้ว่าซึ่งเขามีอยู่ก็จะต้องเอาไปจากเขา เอาอ้ายข้าชาติชั่วช้าไปทิ้งเสียที่มืดภายนอก ซึ่งที่นั่นจะมีการร้องไห้ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน”
คำว่า “บาป” ในพระคัมภีร์ใหม่นั้นตามภาษากรีกใช้คำว่า “ฮามาทีอา” ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวกับการยิงสัตว์ที่ผิดพลาดจากเป้าหมาย เป็นการใช้ชีวิตที่ผิดพลาดจากเป้าหมายที่พระเจ้าได้วางไว้นั่นก็คือบาปด้วย เพราะพระเจ้าทรงสร้างเรามา พระองค์ทรงมีเป้าหมายสำหรับเราทุกคน ถ้าเราไม่ได้ทำตามเป้าหมายของพระเจ้าก็เป็นการบาปด้วยเช่นกัน
ดังมีคนเล่าถึงชีวิตชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า “ซามูเอล เลอ กรีส” ชีวิตของเขามี ๓ ช่วง ช่วงแรกเมื่อยังหนุ่มอยู่ คนพูดถึงเขาว่า “เขาคงจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง”เมื่อเขาอยู่วัยกลางคนคือช่วงที่สอง คนก็พูดกันว่า “เขาคงทำอะไรให้สำเร็จได้ ถ้าเขาพยายาม” และพอถึงบั้นปลายในชีวิตของเขาคือช่วงที่สาม ผู้คนก็พูดว่า“เขาน่าจะทำอะไรให้สำเร็จได้ ถ้าเขาอยากจะทำ” และนี่คือความหมายของคำว่า “ฮามาทีอา” คือความบาปนั่นเอง การมีความสามารถและของประทานแต่ไม่ได้ใช้ให้เกิดผลในงานของพระเจ้า รวมทั้งการใช้ให้เกิดประโยชน์แก่คนในโลก หรือไม่ได้ให้ความสามารถและของประทานที่พระเจ้าให้มานั้น ใช้ให้เกิดผลในการเสริมสร้างคริสตจักรตามที่พระเจ้าทรงประสงค์ เป็นการผิดพลาดจากเป้าหมายของพระเจ้าเช่นกัน ให้เราใช้ความสามารถและของประทานให้เกิดผลเพื่อการเสริมสร้างซึ่งกันและกันในกายของพระคริสต์ คือคริสตจักรนั่นเอง พระเจ้าไม่ได้ขอจากที่เราไม่มี แต่พระองค์ทรงขอจากที่เรามีอยู่นั้น
มีท่านผู้หนึ่งได้กล่าวไว้ว่าคนเรามีทักษะและความสามารถในตัวมากกว่า ๕๐๐ อย่าง และมันถูกบรรจุไว้ในสมองทั้งสองซีกของทุกคนแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่มีความสามารถ เพราะพระเจ้าได้ทรงประทานมาให้แล้วสำหรับทุกคน และรวมทั้งของประทานฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าทรงประทานมาให้กับผู้เชื่อเมื่อเขาต้อนรับพระเยซูคริสต์แล้ว แต่อาจจะมีไม่เหมือนกันและก็ไม่เท่ากันด้วย ดังเช่นตัวอย่างในพระธรรมมัทธิวที่กล่าวถึงคนที่ได้ตะลันต์เดียว เขาไม่ได้ใช้ แต่กลับเอาไปฝังดินไว้ บางครั้งความเกียจคร้าน ความไม่กระตือรือร้นก็ทำให้หลายคนปฏิเสธไปว่า “ไม่มีความสามารถ ไม่มีของประทาน” คนเหล่านี้ได้ฝังความสามารถและของประทานของเขานั่นเอง จงระวังไว้ว่าทุกอย่างมีเวลากำหนดของมัน ความสามารถและของประทานที่มีอยู่ ถ้าเราไม่ใช้ความสามารถและของประทานของเรา เราก็จะสูญเสียมันไป ยกตัวอย่างเช่น คนที่อยู่ในความมืดนานๆ ตาก็จะบอดได้ในที่สุด คนที่ไม่ใช้แขนหรือขานานๆ เข้าก็จะเป็นอัมพาตได้ คนที่ชอบอ่านหนังสือที่ไม่มีคุณค่ามากๆ เขาก็จะไม่ชอบหนังสือที่ดีไปได้ คนที่ชอบฟังดนตรีที่ไม่ดีก็ย่อมไม่เห็นคุณค่าของดนตรีที่ดี และคนที่ปฏิเสธคำท้าทายในพระวจนะของพระเจ้าเสมอ ก็จะทำให้คนนั้นพลาดโอกาสที่จะตอบสนองต่อถ้อยคำของพระเจ้าไป
ฉะนั้นแม้เรายังมีความบกพร่องอยู่ แต่ตราบใดที่ยังพยายามติดตามและตอบสนองพระเยซูอยู่เสมอ เราก็จะไม่ถูกทอดทิ้ง แต่หากเราปฏิเสธไม่ยอม เราก็อาจถูกทอดทิ้งได้เช่นกัน จงหมั่นเรียนรู้และฝึกฝน ทำอะไรก็ได้ ทำบ่อยๆ และจะเห็นว่าทุกคนสามารถทำในสิ่งนั้นได้ ไม่มีใครที่ทำอะไรเป็นได้ตั้งแต่เกิด ทุกอย่างต้องเกิดจากการเรียนรู้และฝึกฝนทั้งสิ้น และจงใช้สิ่งนั้นในการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า และพระองค์ก็จะทรงเพิ่มของประทานฝ่ายวิญญาณให้กับเราในการรับใช้พระเจ้ามากขึ้น เมื่อได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการเสริมสร้างคริสตจักรที่เราอยู่ให้จำเริญขึ้น ตามพระวจนะที่ทรงสัญญาไว้ในพระธรรม ๑โครินธ์ ๑๔:๑๒ “เหตุฉะนั้นเมื่อท่านทั้งหลายกำลังร้อนใจแสวงหาของประทานฝ่ายพระวิญญาณแล้ว ก็จงอุตส่าห์กระทำตัวของท่าน ให้สามารถที่จะทำให้คริสตจักรจำเริญขึ้น” เราไม่ต้องรอให้มีของประทานก่อนจึงจะรับใช้ หากเป็นเช่นนี้จะไม่มีโอกาสได้รับใช้เลยตลอดชีวิตคริสเตียนของเรา จงเริ่มรับใช้ ทำตัวให้คริสตจักรเจริญขึ้น ไม่ใช่ทำให้คริสตจักรเจริญลงหรือแตกแยก แล้วของประทานเหล่านั้นที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์จะเข้ามาซึ่งกล่าวไว้โดยคร่าวๆ มีดังนี้ว่า
๑. ถ้อยคำประกอบด้วยสติปัญญา
๒. ถ้อยคำประกอบด้วยความรู้
๓. ความเชื่อ
๔. การรักษาโรค
๕. การเผยพระวจนะ
๖. การสังเกตวิญญาณ
๗. การอิทธิฤทธิ์
๘. การพูดภาษาแปลก ๆ
๙. การแปลภาษาแปลก ๆ
๑๐. อัครทูต
๑๑. ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ
๑๒. ศิษยาภิบาล
๑๓. อาจารย์
๑๔. ผู้อุปการะ
๑๕. ผู้ครอบครอง
๑๖. การปรนนิบัติ
๑๗. การเตือนสติ
๑๘. การหนุนน้ำใจ
๑๙. การบริจาค
๒๐. ความเมตตา
๒๑. การเป็นผู้นำ
๒๒. การรับรองแขก
๒๓. การขับผี
๒๔. การอธิษฐานวิงวอน
๒๕. การเป็นโสด (ขันที)
ผู้เชื่อทุกคนจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งอย่างในการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า แต่บางคนอาจจะมีมากกว่าหนึ่งอย่างก็เป็นได้ ตามงานที่เขารับผิดชอบและรับใช้อยู่ แต่ในหนังสือเล่มนี้จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดหรือความหมายของ ของประทานเหล่านี้
๒. ผลของการมีชีวิตที่เกิดผล ในพระธรรมยอห์น ๑๕:๒,๗,๑๑ “แขนงทุกแขนงที่ออกผล พระองค์ก็ทรงลิดเพื่อให้ออกผลมากขึ้น…, ถ้าท่านทั้งหลายเข้าสนิทอยู่ในเรา และถ้อยคำของเราฝังอยู่ในท่านแล้ว ท่านจะขอสิ่งใดซึ่งท่านปรารถนาก็จะได้สิ่งนั่น…. , นี่คือสิ่งที่เราได้บอกแก่ท่านทั้งหลายแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราดำรงอยู่ในท่านและให้ความยินดีของท่านเต็มเปี่ยม” การมีชีวิตที่เกิดผลของคริสเตียนจะไม่จบเพียงเท่านั้น พระเจ้าทรงประสงค์ให้เกิดผลมากขึ้น เช่นเดียวกับต้นไม้เมื่อเกิดผลอยู่แล้ว เจ้าของสวนก็ต้องการให้เกิดผลมากเท่าที่จะมากได้ ดังตัวอย่างของต้นองุ่น ภายหลังจากที่เจ้าของสวนเก็บผลไปแล้ว จากนั้นไม่นานเขาก็จะลิดกิ่งหรือแขนงที่เพิ่งจะเก็บผลนั้นออกไป เพื่อให้กิ่งใหม่ออกมาและเกิดผลมากขึ้น แต่ถ้าเกิดผลมากเกินไปจนทำให้ทั้งเถามีผลที่ไม่สมบูรณ์ เขาก็จะตัดออกบ้างเพื่อให้ผลที่โตขึ้นนั้นสมบูรณ์ ฉะนั้นการลิดกิ่งจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเกิดผลมากขึ้น
(๒.๑) จะถูกลิดเพื่อเกิดผลมากขึ้น พระเจ้าไม่เพียงทรงต้องการให้เราเกิดผลเท่านั้น แต่ให้เกิดผลมากขึ้นเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเมื่อเกิดผลอยู่แล้วชีวิตก็จะถูกลิด และการลิดของพระเจ้านั้นก็คือ พระเจ้าทรงใช้เหตุการณ์รอบข้างของเรานั่นเอง หลายครั้งเลยทีเดียวเราเคยสังเกตในชีวิตที่ดำเนินอยู่ไหมว่า ทำไมเมื่อมาเชื่อในพระเยซูคริสต์ใหม่ๆ ขณะที่กำลังร้อนรนตื่นเต้นกับประสบการณ์ในพระเจ้า หรือชีวิตคริสเตียนที่เพิ่งกลับมาหาพระเจ้า และกำลังดำเนินไปด้วยดี เกิดการฟื้นใจและตั้งใจใหม่ที่จะเอาจริงเอาจัง ร้อนรน รักพระเจ้า และพร้อมที่จะเริ่มรับใช้อย่างเข้มแข็ง ก็มักจะมีปัญหาความยุ่งยาก อุปสรรคเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งสร้างความยุ่งยากลำบากใจให้กับเราในการที่จะเดินกับพระเจ้าต่อไป นำไปสู่การตัดสินใจยากมากขึ้นและบางทีก็มีเหตุการณ์ที่เจ็บปวด ความทุกข์ ปัญหาเกิดการสูญเสียเกิดขึ้น พระเจ้ากำลังใช้เหตุการณ์เหล่านี้เพื่อลิดชีวิตของเราเพื่อให้เกิดผลมากขึ้นหรือเปล่า ที่จะขจัดบางสิ่งออกจากชีวิตที่เป็นอุปสรรคในการเกิดผลมากขึ้น เช่นอาจจะเป็นนิสัยบางอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เปลี่ยนแปลงหรือขจัดออกไป หากเก็บไว้จะเป็นอุปสรรคในการรับใช้หรือมีอะไรที่เรารักหรือให้ความสำคัญมากกว่าพระเจ้า และพระองค์ทรงประสงค์ให้เราที่จะเรียงลำดับความสำคัญอย่างถูกต้อง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งนั้นไม่ให้มันมีอิทธิพลในชีวิตของเรามากกว่าพระเจ้า หรือยอมกับพระเจ้าในบางอย่างที่จะไม่ยึดติดและให้ความสำคัญมากกว่าพระเจ้า น่าเสียดายที่หลายครั้งชีวิตคริสเตียน เมื่อเจอกับปัญหาหรือเหตุการณ์เหล่านี้แทนที่จะเดินต่อไป ยืนหยัด มั่นคง ไม่ท้อถอย และมีท่าทีที่ถูกต้องต่อพระเจ้าโดยไม่บ่น ไม่ตัดพ้อต่อว่า ไม่ขมขื่นกับพระเจ้า กลับตรงกันข้าม หลายคนมักจะหยุดจากการรับใช้ จากการเอาจริงเอาจังกับพระเจ้า ลดบทบาทลงในการรับใช้ มากไปกว่านั้นก็คือต่อว่าพระเจ้ารู้สึกน้อยใจในพระเจ้า และเกิดคำถามขึ้นมามากมายว่า ทำไมๆ ๆ ๆ ? สิ่งที่ตามมาก็คือชีวิตฝ่ายวิญญาณเริ่มถอยหลัง ความเชื่อก็ลดน้อยลง บางคนถึงกับหลงหายไปจากทางของพระเจ้าก็มี พระเจ้าทรงใช้เหตุการณ์เพื่อจะให้ชีวิตเราที่จะก้าวหน้าต่อไป เข้มแข็ง และสู่การเกิดผลมากยิ่งขึ้น ตามพระธรรมโรม ๘:๒๘, ๓๗ “เรารู้ว่า พระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง คือคนทั้งปวงที่พระองค์ได้ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์ …, แต่ว่าในเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ เรามีชัยเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ได้ทรงรักเราทั้งหลาย” จงวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราว่าพระเจ้าทรงกำลังทำอะไร? และเราตอบสนองเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไรบ้าง? เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเมื่อมันผ่านไปส่งผลดีหรือผลเสียในชีวิตคริสเตียนของเรา นั่นแหละบางครั้งอาจจะเป็นการลิดของพระเจ้าเพื่อให้เกิดผลมากขึ้นก็เป็นได้ หากเรามั่นใจว่า เรากำลังเดินอยู่ในน้ำพระทัยและแผนการของพระองค์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะขอบพระคุณในทุกกรณี และเรียนรู้ที่จะยึดมั่นในพระสัญญา และรอคอยพระเจ้า แล้วเราจะเห็นถึงการทำงานของพระเจ้าที่จะนำเราไปอีกก้าวหนึ่งของชีวิตคริสเตียน
หรือบางครั้งชีวิตคริสเตียนก้าวไปได้ระดับหนึ่ง ค่อนข้างอยู่ตัว อิ่มใจกับพระพรและมีโอกาสรับใช้ ทุกอย่างไปได้อย่างราบเรียบ และเราก็พอใจอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องการหวือหวา หรือทำอะไรมากไปกว่านี้ แต่พระเจ้าไม่ทรงพอพระทัย พระองค์ทรงประสงค์ให้เราก้าวต่อไป เกิดผลมากขึ้น รับใช้มากขึ้น จะมีสถานการณ์เกิดขึ้น เพื่อเราจะต้องขยายชีวิตออกไปมากยิ่งขึ้น อาจจะมีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่เป็นปัญหา ความลำบาก หรือการเคลื่อนย้าย หรือนำมาซึ่งการสูญเสีย หรือต้องละทิ้งบางอย่างที่เรารักและหวงแหนก็ได้ ซึ่งเราไม่เข้าใจ และก็รู้ว่าไม่ได้เกิดมาจากความผิดพลาดของเรา แต่ถ้าเรายอมรับและเรียนรู้กับพระเจ้าในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความถ่อมใจ เชื่อฟัง เรากำลังจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เหมือนกับการเรียนหนังสือจะต้องมีการสอบ และมีการเลื่อนชั้น ชีวิตคริสเตียนก็เช่นกัน ต้องเรียนตลอดชีวิตและก้าวเลื่อนขั้นบันไดขึ้นไปอย่างไม่หยุดหย่อน บางอย่างเป็นสิ่งที่เราพอใจในฝ่ายวิญญาณรวมถึงการรับใช้ พระเจ้าจะมาลิดกิ่งนั้นออกไปเพื่อจะแตกกิ่งใหม่อีกหลายกิ่งทำให้เกิดผลมากกว่ากิ่งเดิมซึ่งเป็นกิ่งเก่า ตัวอย่าง ดิฉันปลูกมะอึก (เหมือนมะเขือแต่มีขนและรสเปรี้ยว) ไว้ต้นหนึ่งกว่าจะรดน้ำพรวนดินให้มันโตแตกกิ่ง 4,5 กิ่งและออกผล พอที่ดิฉันจะเก็บมาทำน้ำพริกทานเองเท่านั้น พอมันออกผลไประยะหนึ่งจนถึงยอด ผลมันก็น้อยลงแถมมีเพลี้ยมากินอีก ดิฉันดูแล้วถ้าปล่อยไว้คงจะออกผลอีกนิดหน่อยและก็ตาย ในที่สุดก็ยอมตัดใจตัดกิ่งทั้งหมดทิ้งทั้งที่มีผลมันติดอยู่บ้าง คงเหลือแต่ต้น นึกในใจว่ามันจะตายพรือเปล่า พอรดน้ำไปสักระยะหนึ่ง กิ่งใหม่ก็แตกออกมาเป็นเกือบสองเท่าตัว ตอนนี้ดิฉันต้องเก็บผลของมันแจกให้คนอื่นช่วยทาน ผลมันดกมาก และก็เช่นกันมันก็เกิดผลไปอีกระยะหนึ่ง ผลก็เริ่มลดลงอีก ก็ต้องตัดกิ่งมันอีกเพื่อจะเกิดผลต่อไป เช่นเดียวกันพระเจ้าก็จะทำกับชีวิตคริสเตียนของเราเช่นกันหากเราเป็นคนหนึ่งที่ต้องการเกิดผลเพื่อพระเจ้าเสมออย่างไม่หยุด
(๒.๒) ท่านจะขอสิ่งใดที่ท่านปรารถนาก็จะได้สิ่งนั้น พระเจ้าทรงได้ยินคำอธิษฐานของผู้เชื่อทุกคนแต่จะตอบตามที่เขาปรารถนาหรือไม่ แต่สำหรับคนที่มีชีวิตที่เกิดผล พระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่า “เขาขอสิ่งใดจะได้สิ่งนั้น” เพราะชีวิตที่เกิดผลนั้นเป็นชีวิตที่ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า และถ้าเขาทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า ความต้องการความปรารถนาของเขาก็อยู่ในน้ำพระทัยและแผนการของพระองค์ และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเมื่อเขาขอสิ่งใดสิ่งนั้นก็จะเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้าด้วย เพราะความต้องการของเขากับน้ำพระทัยของพระเจ้านั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระเจ้าจะทรงฟังและจะทรงตอบตามใจปรารถนาของเขาทุกประการอย่างแน่อน ใ นพระธรรมยอห์น ๑๕:๘ “พระบิดาของเราทรงได้รับเกียรติเพราะเหตุนี้คือ เมื่อท่านทั้งหลายเกิดผลมาก ท่านก็เป็นสาวกของเรา” ไม่เพียงแต่พระเจ้าจะทรงฟังคำอธิษฐานเท่านั้น แม้แต่สิ่งที่เขาคิดพระเจ้าก็ทรงทราบ และก่อนที่ลิ้นของเขาจะเอ่ยพระเจ้าก็จะทรงประทานให้เขา เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและอัศจรรย์ใจในสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของคนที่รักพระเจ้า และมีชีวิตที่เกิดผลเพื่อพระองค์
(๒.๓) เพื่อให้ความยินดีของเราดำรงอยู่ในท่าน และให้ความยินดีของท่านเต็มเปี่ยม ในพระธรรมยอห์น ๑๕:๑๑ การมีชีวิตที่เกิดผลเพื่อพระเจ้านั้นนำมาซึ่งความยินดี ความสุขใจและความอิ่มใจอย่างเต็มเปี่ยม แม้เวลาที่ต้องตัดสินใจทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าแต่ละครั้งนั้นดูจะยากลำบาก ไม่เหมือนกับการทำบาปหรือการทำตามใจตัวเองคือการเกิดผลเพื่อมาร ไม่ต้องตัดสินใจยาก เพราะมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของเราอยู่แล้ว มันนำมาซึ่งความยินดีตอนทำเพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่ผลของมันนำมาซึ่งความวิบัติ ความทุกข์ยากลำบากมาสู่ชีวิตในระยะยาว หรือบางทีตลอดชีวิตในโลกนี้เกิดเป็นหอกข้างแคร่ แต่การเกิดผลเพื่อพระเจ้านั้นยุ่งยากในการตัดสินใจและลำบากที่จะทำ แต่เมื่อทำแล้วก็นำมาซึ่งความยินดีสู่ชีวิตตลอดไป ไม่เพียงแต่จะมีความยินดีเท่านั้นความยินดีของพระเยซูก็จะดำรงอยู่กับเขา เพื่อทำให้ความยินดีของเขาเต็มเปี่ยมล้นออกมาในชีวิต และชีวิตที่มีความยินดีนั้นเป็นชีวิตที่มีพลัง ดังเพลงที่รู้จักและร้องกันเสมอคือ “ความยินดีในพระเจ้าเป็นกำลังของข้า” ชีวิตจึงเต็มไปด้วยพลัง ไม่ใช่ความอ่อนแอท้อแท้ ซึ่งนำมาจากพระธรรม เนหะมีย์ ๘.๑๐ “….เพราะความชื่นบานของตนในพระเจ้าเป็นกำลังของท่าน ”
๓. หากชีวิตคริสเตียนไม่เกิดผล ในพระธรรมยอห์น ๑๕:๒,๖,๗ “แขนงทุกแขนงในเราที่ไม่ออกผล พระองค์ก็ทรงตัดทิ้งเสีย…, ถ้าผู้ใดมิได้เข้าสนิทอยู่ในเรา ผู้นั้นก็ต้องถูกตัดทิ้งเสียเหมือนแขนง แล้วก็เหี่ยวแห้งไปและถูกเก็บเอาไปเผาไฟ…”
(๓.๑) จะถูกตัด การถูกตัดกับการถูกลิดจะต่างกัน การลิดของพระเจ้านั้นแม้ในเหตุการณ์นี้เราไม่ผ่าน พระเจ้าก็รอและค่อยลิดต่อเมื่อเราพร้อมคือเป็นการลิดเอาสิ่งไม่ดีที่เป็นอุปสรรคออก หรืออาจเป็นการเกิดผลที่ไม่เต็มที่ในความสามารถและของประทาน บางทียังยึดติดว่าเป็นเพราะความสามารถของตัวเราเอง พระเจ้าลิดออกเพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพเข้ามาในเราและเพื่อจะเป็นที่ถวายสรรเสริญแด่พระเจ้าไม่ใช่เพื่อเกียรติของเรา แต่ทุกอย่างเพื่อพระเจ้า แต่การตัดนั้น ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ คือเมื่อเราตัดสินใจในการมาเชื่อในพระเยซูคริสต์และในการติดตามพระองค์ ฉะนั้นแรงจูงใจในการรับเชื่อและติดตามพระเยซูเป็นสิ่งสำคัญมาก ระยะเวลาจะเป็นสิ่งพิสูจน์และผลการดำเนินชีวิตคริสเตียนก็จะฟ้องด้วย คือจะไม่เกิดผลเพื่อพระเจ้าคือฝ่ายวิญญาณ ในการติดตามพระเจ้านั้นเพียงเพื่อรับพระพร การปฎิบัติตนในการดำเนินชีวิตคริสเตียนจึงเป็นศาสนกิจไป ไม่ได้เข้าไปในวิญญาณจิตของเขา มันจึงส่งผลให้ชีวิตฝ่ายวิญญาณของเขาเหี่ยวแห้ง หรือว่างเปล่าไป คนเหล่านี้ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิต หรืออยากจะมีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้า และไม่สนใจว่าพระเจ้าทรงประสงค์อะไรในชีวิตของเขา แต่การมาเชื่อในพระเยซูก็เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนต่างหาก ตัวอย่างเช่นยูดาสอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ที่เขาติดตามพระเยซูเพราะเพียงสิ่งของในโลกคือ เงินหรือเกียรติ สุดท้ายเขาก็ขายพระเยซูและละทิ้งพระองค์ไปเพื่อแลกเอาสิ่งที่เขาต้องการคือเงิน แม้เขาติดตามและฟังคำสอนของพระเยซูถึงสามปี พระเยซูเองทรงเตือนเขาเช่นกัน แต่ก็ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้นในชีวิต คนที่ติดตามพระเยซูเพียงเพื่อประโยชน์สิ่งของในโลก พระพร ความร่ำรวย เท่านั้น เขาจะไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเจ้าที่ดี การติดตามพระเจ้าก็เป็นเหมือนการนับถือศาสนา ดังนั้นชีวิตจึงไม่เกิดผลในทางของพระเจ้า ชีวิตฝ่ายวิญญาณจึงเหี่ยวแห้ง สุดท้ายก็ถูกตัดขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้า จึงเหี่ยวแห้งไปและก็ต้องตัดทิ้ง ที่ถูกตัดเพราะตัวเขาไม่ติดสนิทเองจึงทำให้ชีวิตไร้ผลในทางของพระเจ้า
(๓.๒) คำอธิษฐานของเขา พระเจ้าจะไม่ทรงสดับฟัง ชีวิตที่ไม่เกิดผลเพื่อพระเจ้า พระองค์ไม่ทรงพอพระทัย พระเจ้าไม่ได้รับเกียรติเพราะเขาไม่ได้ดำเนินชีวิตตามน้ำพระทัยของพระเจ้า แต่ตามใจปรารถนาของตนเอง และเมื่อเขาอธิษฐานเขาก็ขอตามความปรารถนาของเขาเอง ผลก็คือ“ท่านขอและไม่ได้รับเพราะท่านขอผิด หวังได้ไปเพื่อสนองกิเลสตัณหาของท่าน” ในพระธรรมยากอบ ๔:๓ พระเจ้าไม่เหมือนกับซาตานเมื่อขอสิ่งใดที่ผิดก็ยอมให้ ไม่สนใจว่าคนๆ นั้นจะเอาไปทำอะไร หรือผลที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเราเป็นอย่างไรเมื่อได้รับสิ่งที่ขอไปแล้ว แต่สำหรับพระเจ้าหากสิ่งใดที่ขอจะนำมาซึ่งผลเสียต่อชีวิตเราระยะยาว หรือไม่ถวายเกียรติ อาจส่งผลให้ชีวิตห่างจากพระเจ้า พระองค์ก็จะไม่ให้ตามที่เราขอ พระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานทุกๆ คำ แต่จะให้หรือไม่ให้ตามที่ขอนั้น ขึ้นอยู่ว่าพระองค์พอพระทัยเท่านั้นจึงจะได้รับคำตอบตามความประสงค์ของผู้ที่ขอ ใน สุภาษิต ๒๘.๙ “ ถ้าผู้ใดไม่ฟังพระบัญญัติ แม้คำอธิษฐานของเขาก็เป็นสิ่งน่าเกลียดน่าชัง ”
(๓.๓) ได้รับคำแช่งสาป ในพระธรรมยอห์น ๑๕:๖ คนเหล่านี้ชีวิตฝ่ายวิญญาณเหี่ยวแห้งไม่มีชีวิตชีวาในพระเจ้า พระพรฝ่ายวิญญาณไม่มี และการตอบสนองต่อพระวจนะก็ไม่มี กิจกรรมฝ่ายวิญญาณก็เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายสำหรับเขา ไม่ว่าจะเป็นการอธิษฐาน, การนมัสการ, การเรียนพระวจนะ, การฟังคำเทศนา ตลอดทั้งการเข้าร่วมสามัคคีธรรมกับพี่น้องในคริสตจักร หรืออยู่ท่ามกลางชุมชนของพระเจ้าแล้ว เขาวางตัวลำบาก รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มซึ่งต่างจากที่เขาอยู่ในสังคมภายนอกที่ไม่ใช่คริสเตียน เขาจะรู้สึกกลมกลืนได้ง่ายกว่า นั่นคือฝ่ายวิญญาณของเขาเหี่ยวแห้งไปแล้ว ที่สุดแล้วการอ่านพระคัมภีร์การอธิษฐานส่วนตัวก็หมดไป หรือแม้แต่การมาโบสถ์ก็เริ่มไม่มีคุณค่า เริ่มห่าง เริ่มไม่มา หลงหาย ซึ่งตรงกับพระธรรมสดุดี ๑:๕ “เหตุฉะนั้นคนอธรรมจะไม่ยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อถึงคราวพระเจ้าทรงพิพากษา หรือคนบาปไม่ยั่งยืนในที่ชุมชนของคนชอบธรรม”
นี่คือผลของการเลือกที่จะเป็นทั้งสองแบบ เกิดผลเพื่อพระเจ้าหรือเพื่อซาตานก็จะมีผลต่อชีวิตของเราอย่างแน่นอน คือทางบวกหรือทางลบ พระพรหรือคำแช่งสาป หากบุคคลนั้นปฏิเสธที่จะเกิดผลเพื่อพระเจ้าอยู่เสมอ มันอาจจะนำไปถึงการปฏิเสธพระคริสต์ ในที่สุดเหมือนยูดาสที่พร้อมที่จะเอาความเชื่อแลกกับสิ่งของในโลก ซึ่ง แรกๆ เขาอาจจะไม่สูญเสียความรอดเลยทีเดียว แต่ถ้าปฏิเสธพระคริสต์เมื่อไร ก็หมายถึงความรอดของเขาได้หลุดไปแล้ว และการดำเนินชีวิตคริสเตียนของเขาก็ไม่เห็นผลดีอะไรเลยตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ เพราะเขาเลือกดำเนินชีวิตที่ไม่เชื่อฟัง แต่กลับตามความต้องการของเนื้อหนังของเขาชีวิตจึงมีแต่การแช่งสาปไม่ใช่พระพร กาลาเทีย ๕.๑๖ – ๑๗ “ แต่ข้าพเจ้าขอบอกว่า จงดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ อย่าสนองความต้องการของเนื้อหนัง 17เพราะว่าความต้องการของเนื้อหนังต่อสู้พระวิญญาณ และพระวิญญาณก็ต่อสู้เนื้อหนัง เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นศัตรูกัน ดังนั้นสิ่งที่ท่านทั้งหลายปรารถนาทำจึงกระทำไม่ได้ ”
ฉ. ประการที่หก บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์
เราจะเห็นว่ามนุษย์ตลอดทุกยุคทุกสมัย มักจะแสวงหาอำนาจเหนือคนอื่น กำลัง อิทธิฤทธิ์ที่เหนือธรรมชาติ เหนืออำนาจที่มองไม่เห็น คือ วิญญาณต่างๆ อยากรู้อนาคต แสวงหาการที่จะมีสุขภาพที่ดี แข็งแรงเสมอไม่เจ็บไข้ได้ป่วย กำลังไม่ถอยคือ ไม่แก่มีอายุยืนยาวตลอดไป จึงมีคำอวยพรเสมอว่า ขอให้มีอายุยืนนานเป็นกี่ปีก็ว่ากันไป บางทีก็อวยพรเกินความเป็นจริง เช่น มีอายุยืนนานเป็นพันหรือหมื่นๆ ปี ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะพระวจนะของพระเจ้าบอกไว้แล้ว ในพระธรรมสดุดี ๙๐:๑๐ “กำหนดปีของข้าพระองค์คือเจ็ดสิบ หรือสุดแต่เรื่องกำลัง ก็ถึงแปดสิบ แต่ช่วงชีวิตนั้นมีแต่งานและความลำบาก ไม่ช้าก็สูญไปและข้าพระองค์ก็จากไป” มนุษย์อยู่ได้ดีๆ เต็มที่ก็เพียง ๗๐-๘๐ ปีเท่านั้น ไม่มีใครหนีความจริงนี้ได้ และความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ที่จะรู้ถึงอนาคตตัวเอง และคนอื่นหรือของโลก และการแสวงหานี่เองจึงออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น ลัทธิต่างๆ ออกมาเป็นเครื่องรางของขลัง ไสยศาสตร์ การอยู่ยงคงกระพัน การเสก การสักสารพัด การเซ่นไหว้วิญญาณ การอยากมีอำนาจเหนือวิญญาณต่างๆเพื่อเหนือคนอื่น รับอำนาจชั่วเข้ามาเป็นคนทรงเจ้าหรือทรงผี หรือพ่อมดหมอผี การหาวิธีที่จะมีอายุยืนยาวและสุขภาพที่ดี เลยออกมาเป็นยาอายุวัฒนะต่างๆ การรักษาแบบใช้อำนาจต่างๆ ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ในอนาคตก็ออกมาเป็นการดูดวงชะตาราศี การทำนาย มนุษย์แสวงหาสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อตัวของเขาเอง โดยเอาตัวเขาเองเป็นศูนย์กลาง เมื่อเขาได้อะไรมาบ้างจากการแสวงหาสิ่งเหล่านี้ ก็ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษหรือเป็นพระไปเลยก็มี เพื่อจะได้รับการยกย่องจากมนุษย์และนั่นก็จะนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียงหรือเงินทองมากมายตามมา ถ้าจะถามว่าในทางของพระเจ้ามีหรือไม่ในการที่เราจะมีอิทธิฤทธิ์เหนือวิญญาณชั่ว เหนือธรรมชาติ มีสุขภาพที่ดีอายุยืนยาว และสามารถที่จะรู้อนาคตได้ในเรื่องของคน ของโลก แน่นอนสิ่งเหล่านี้มีปรากฎในพระคัมภีร์ครบถ้วนแล้ว จะเห็นได้จากคนของพระเจ้าในพระคัมภีร์ที่ได้กระทำและดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่าง ได้บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ สิ่งเหล่านั้นที่เขากระทำไม่ใช่เพื่อตนเองเป็นศูนย์กลางแต่เพื่อรับใช้พระเจ้าและเป็นการถวายเกียรติแด่พระองค์โดยมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง หลายคนอาจจะคิดว่านั่นเป็นอดีตไปแล้วและก็คงจะเกิดกับคนที่พระเจ้าทรงเรียกเป็นพิเศษเท่านั้น เปล่าเลยในพระธรรมฮีบรู ๑๓:๘ กล่าวว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเหมือนเดิมในเวลาวานนี้ และวันนี้ และต่อไปเป็นนิจกาล” ถ้าพระเยซูทรงกระทำการใหญ่ยิ่งต่างๆ ในอดีตอย่างไร ในปัจจุบันนี้พระองค์ยังทรงกระทำอยู่ ในพระธรรมยอห์น ๑๔:๑๒ “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่วางใจในเราจะกระทำกิจซึ่งเราได้กระทำนั้นด้วย และเขาจะกระทำกิจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก เพราะว่าเราจะไปถึงพระบิดาของเรา” นี่เป็นพระสัญญาของพระเยซูคริสต์ต่อสาวกและผู้เชื่อทุกคน และจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เชื่อทุกคนอย่างแน่นอน เมื่อเราเข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องนี้ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญมากในการดำเนินชีวิตคริสเตียนคือ นั่นคือ “การรับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์” แต่ก่อนสิ่งอื่นใดเราต้องทำความเข้าใจ หรือมารู้จักเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยกันก่อน